สำนักงานประกันสังคม แจง ร.พ. เอกชน ออกโครงการฯเหตุผลทางธุรกิจ

วันที่ 3 กันยายน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณีโรงพยาบาลเอกชนถอนตัวจากโครงการประกันสังคมจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลยันฮี กรุงเทพฯ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี และโรงพยาบาลศรีระยอง จ.ระยอง ว่า ขอให้ผู้ประกันตนอย่าได้วิตกกังวล เพราะหากผู้ประกันตนเจ็บป่วยยังสามารถใช้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งดังกล่าว ได้จนถึง 31 ธันวาคม 2560 สำหรับเหตุผลของสถานพยาบาล 3 แห่งดังกล่าวได้ถอนตัวออกจากโครงการประกันสังคม เนื่องจากเป็นการดำเนินตามแนวทางการบริหารธุรกิจของแต่ละแห่ง เช่น การเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางการที่สถานที่ตั้งของโรงพยาบาลในเครือที่อยู่ใกล้ กันจะได้ไม่แย่งลูกค้ากันเอง หรือเป็นโรงพยาบาลที่มีผู้ประกันตนเลือกจำนวนน้อย และขอยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่มีโรงพยาบาลเอกชนออกจากโครงการประกันสังคม เนื่องจากภาวะการขาดทุน ทั้งนี้ต่างจากโรงพยาบาลเอกชนตามโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติที่ขอถอนตัวเนื่องจากประสบภาวการณ์ขาดทุน

นพ.สุรเดช กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมได้จัดสถานพยาบาลทดแทนให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระ ทบทั้งหมดแล้ว โดยขณะนี้ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เพื่อเลือกสถานพยาบาล ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 นี้ หากไม่เลือกมาภายในกำหนด สำนักงานประกันสังคมจะจัดสถานพยาบาลให้ผู้ประกันตน และสำนักงานประกันสังคมจะแจ้งผลการเลือกสถานพยาบาลให้สถานประกอบการ (มาตรา 33) และผู้ประกันตนมาตรา 39 วันที่ 17 ธันวาคม 2560

เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม ยังได้กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในปี 2560 นี้ คณะกรรมการประกันสังคมมีมติปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 โดยมีรายละเอียดในการเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ดังนี้ เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวจากเดิม 1,460 บาท/คน/ปี เป็น 1,500 บาท/คน/ปี เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคที่มีภาระเสี่ยง จากเดิม 432 บาท /คน/ปี เป็น 447 บาท/คน/ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 5,364 ล้านบาท
เพิ่มค่ารักษาผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายสูง จากเดิม 560 บาท/คน/ปี เป็น 640 บาท/คน/ปี โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น เป็นเงิน 7,680 ล้านบาท กรณีการรักษาผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายเกินหนึ่งล้านบาท ได้เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ให้สถานพยาบาลในอัตราร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายที่เกินหนึ่งล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อรวมค่าบริการทางการแพทย์ทุกรายการ เช่น เหมาจ่าย เหมาจ่าย 1,500 บาท/คน/ปี โรคเรื้อรังที่เป็นภาระเสี่ยง 447 บาท/คน/ปี โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง 640 บาท/คน/ปี ค่ารักษาที่เกินหนึ่งล้านบาท 15 บาท/คน/ปี ค่ารักษาอื่นๆ เช่น ค่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ยาสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะและค่าส่งเสริมสุขภาพเป็นการตรวจ ร่างกายประจำปี 397 บาท/คน/ปี กรณีประสบอันตราย/ฉุกเฉิน ค่าบริการทันตกรรม มียอดรวมทั้งสิ้น 3,399.69 บาท/คน/ปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงและไม่น้อยกว่ากองทุนประกันสุขภาพอื่นๆ

 

ที่มา มติชนออนไลน์