นายกสมาคมทนาย ซัด ”เสรี” เกรงกลัวระบบเลือกตั้งเอาเเต่ยอทหาร ชี้ โลกใบนี้ไม่มีระบอบ “เผด็จการประชาธิปไตย”

นายกสมาคมทนาย ซัด”เสรี”เกรงกลัวระบบเลือกตั้งเอาเเต่ยอทหาร ชี้ โลกใบนี้ไม่มีระบอบ “เผด็จการประชาธิปไตย” หนุน เเถลงการณ์ สหภาพนิสิตนักศึกษา ยกสาระสำคัญเเสดงความผิดหวัง สภาโหวต”ประยุทธ์”

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊คความเห็นข้อกฎหมายลงในเพจสมาคมทนายความเเห่งประเทศไทยกรณีเหตุการณ์ การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมามีข้อความว่า

ผลพวงจากการรัฐประหาร ของ คสช. ที่ได้ออกแบบ และเขียนกติกาที่บิดเบี้ยวไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบสากล เอื้อประโยชน์ให้มีการสืบทอดอำนาจ ก็ได้บรรลุเป้าหมาย อันนำมาสู่การโหวตในสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 และได้นายกรัฐมนตรี ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นไปตามคาดหมาย แต่บรรยากาศในวันนั้น ต้องชื่นชม พรรคการเมืองฝ่ายที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ได้ร่วมกันทำหน้าที่กันอย่างดี ในการอภิปรายโดยเตรียมข้อเท็จจริง ข้อมูล พยานหลักฐานต่างๆ ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 5 ปีว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติ ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกต่อไป

ซึ่งปรากฏว่า ข้อมูลในการอภิปรายในสภาในวันนั้น สอดคล้องตรงกับคำแถลงการณ์ของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่แสดงความผิดหวัง หลังจากสภาโหวต “ประยุทธ์” เป็นนายกต่ออีกสมัย ซึ่งมีสาระสำคัญตรงกันในเรื่อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า

1. มีพฤติการณ์ล้มล้างรัฐธรรมนูญ โดยรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ถือเป็นเรื่องผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ปล่อยปละให้เกิดการทุจริตในภาครัฐ และจงใจไม่ตรวจสอบการทุจริตของคนที่ใกล้ชิดและมีส่วนเกี่ยวข้อง

2. ใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ละเมิดสิทธิเสรีภาพขัดกับรัฐธรรมนูญ มีอำนาจพิเศษเหนือ รัฐธรรมนูญ ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งขัดกับหลักนิติธรรมและก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ

3. ร่างรัฐธรรมนูญให้สิทธิ ส.ว. ร่วมลงคะแนนเสียง เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งขัดกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะ ส.ว. จำนวน 250 คน ไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาจากการคัดเลือกของ คสช. โดยมีพลเอกประวิตรฯ เป็นประธานสรรหา และ ส.ว.ทั้งหมดเหล่านั้นก็กลับมาเลือก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยและเข้าข่ายขัดกันซึ่งผลประโยชน์ทางการเมือง

จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของการอภิปรายถึงการขาดคุณสมบัตินายกฯ และเหตุผลอื่นๆ ตรงกับการแถลงการณ์ของของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา นอกเหนือจากนั้นในการอภิปรายนั้นยังปรากฏว่ามี ส.ว. อีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะ ส.ว. ชื่อนายเสรี สุวรรณภานนท์ ที่มีอาชีพนักกฎหมาย ออกมาอภิปราย ยกยอ ชื่นชมถึงความเหมาะสมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าสมควรเป็นนายกฯ ถึงกับเอ่ยปากในสภาว่าตนเองนิยม “เผด็จการประชาธิปไตย”

ผมในฐานะนักกฎหมายร่วมวิชาชีพเดียวกันขอชี้แจงว่า ในสังคมทั้งโลกยังไม่มีปรากฏคำว่า “เผด็จการประชาธิปไตย” ขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะระบอบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตยอยู่คนละด้านกันอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถจะนำมาผสมรวมกันได้

คำว่า “เผด็จการ” หมายถึง การใช้อำนาจโดยเด็ดขาดโดยกลุ่มเดียวคนเดียว ใช้อำนาจเด็ดขาดในการบริหารประเทศ รัฐบาลอยู่ภายใต้การบริหารของบุคคลเพียงคนเดียว

ส่วนคำว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึง ระบอบการปกครองที่ถือประชาชนเป็นใหญ่และการถือเสียงข้างมากของประชาชนเป็นใหญ่ในการบริหารประเทศ

– แต่ผู้นิยมเผด็จการ คือ ผู้ชื่นชอบการสรรหาและ แต่งตั้งให้ตัวเองเข้าสู่อำนาจรัฐโดยไม่ผ่านอำนาจหรือฉันทานุมัติจากประชาชน

– เกรงกลัวต่อระบบการเลือกตั้งจากประชาชน เนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จและพ่ายแพ้ ถ้าหากยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตย

ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าว อาจทำให้ท่าน ส.ว. ท่านนี้ นิยมชื่นชอบเผด็จการประชาธิปไตย

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์