กทม. ลุยตรวจ “วอเตอร์แบงก์ดินแดง-แก้มลิงลาดพร้าว” ยันพร้อมรับมือฝน

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำปากซอยสุทธิพร 2 ซึ่งเป็น 1 ใน 4 โครงการก่อสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน (วอเตอร์แบงก์) ประกอบด้วย 1.บริเวณสถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางเขน เปิดใช้งานแล้ว 2.สวนสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกตัดถนนวิภาวดีรังสิต และ 3.ใต้สะพานทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์กับถนนกรุงเทพกรีฑา อยู่ระหว่างหาผู้รับจ้าง และ 4.ถนนอโศกดินแดง บริเวณปากซอยสุทธิพร 2 อยู่ระหว่างก่อสร้าง รวมถึงลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการแก้มลิงบึงลาดพร้าว 71 เขตลาดพร้าว

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า บริเวณถนนอโศกดินแดง บริเวณปากซอยสุทธิพร 2 เป็น 1 ใน 14 จุดเสี่ยงน้ำท่วม เมื่อมีฝนตกไม่ถึง 60 มิลลิเมตร (มม.) มักจะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้ากว่าร้อยละ 40 หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยรองรับน้ำได้ถึง 1,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยการสร้างบ่อรับน้ำใต้ดินความลึก 11 เมตร (ม.) ขณะเดียวกัน จะสร้างท่อขนส่งน้ำเหล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.80 ม. ความยาว 300 ม. เมื่อเกิดฝนตกจะบ่อจะดึงน้ำฝนเก็บไว้ใต้ดินลักษณะคล้ายแก้มลิง หลังจากฝนหยุดตกจะมีระบบสูบน้ำขนาด 1.25 ลบ.ม./วินาที สูบน้ำจากบ่อรับน้ำลงสู่คลองซอยโบสถ์แม่พระฟาติมา หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณซอยสุทธิพร 2 และบริเวณใกล้เคียงได้ คาดจะแล้วเสร็จภายเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถาวร แต่ระหว่างการก่อสร้างนี้ กทม.ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังชั่วคราวแล้ว

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนโครงการแก้มลิงบึงลาดพร้าว 71 เป็น 1 ใน 6 โครงการแก้มลิงเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่จุดอ่อน โดยแก้มลิงลาดพร้าว 71 สามารถรองรับน้ำได้เกือบ 100,000 ลบ.ม. ขณะเดียว ผู้รับเหมายังอยู่ระหว่างการวางท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.20 ม. เพื่อลำเลียงน้ำผ่านท่อไปยังคลองเสือน้อยก่อนระบายออกสู่คลองลาดพร้าว ขณะนี้ผู้รับเหมาอยู่ระหว่างวางท่อระบายน้ำคาดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ จากนั้นจึงจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2.5 ลบ.ม./วินาที เพื่อช่วยดึงน้ำออกสู่คลองเสือน้อยอีกทางหนึ่ง หากโครงการแล้วเสร็จปัญหาน้ำท่วมขังย่านถนนลาดพร้าวจะบรรเทาลง

นายจักกพันธุ์ กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือน้ำฝนในบริเวณจุดอ่อนน้ำท่วม กทม.ว่า ปัจจุบัน กทม.ได้มีโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นโครงการชั่วคราวและโครงการถาวร หนึ่งในโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะยาว อาทิ โครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำเพิ่มเติม ด้วยวิธีดันท่อลอด หรือ ไปป์แจ็คกิ้ง (pipe jacking) รวม 14 โครงการ ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 โครงการบริเวณซอยนราธิวาส 17 เขตสาทร ระบบเปิดใช้งานแล้ว ทำให้ปัญหาน้ำท่วมซอยสวนพลูหมดไป ส่วนโครงการอื่นอยู่ระหว่างดำเนินการจะทยอยแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยทุกโครงการจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมกทม. รวมทั้งโครงการแก้มลิงบริเวณบึงรางเข้ที่เปิดใช้งานแล้ว ปัจจุบันช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมถนนชายทะเลบางขุนเทียน นอกจากนี้ บางโครงการยังสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้โดยการวางท่อระบายน้ำเพียงอย่างเดียว เช่น ถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ กทม.ได้วางท่อขนาด 1.50 ม.เพื่อระบายน้ำออกสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ทำให้ปัญหาน้ำท่วมขังที่เคยมีก็หมดไป รวมถึงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณคลองบางกอกน้อย

“โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำกทม. ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ดีขึ้น โดยพบจุดอ่อนน้ำท่วมลดลงจากเมื่อปี 2561 รวม 17 จุด ปัจจุบันเหลือ 14 จุด แต่หากโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีหน้า เชื่อว่าจุดอ่อนน้ำท่วมที่มีอยู่จะน้อยลง อย่างน้อยโครงการไปป์แจ็คกิ้งรวม 11 จุดนั้นจะช่วยให้จุดอ่อนน้ำท่วมหายไปอย่างน้อย 10 จุด” นายจักกพันธุ์ กล่าว

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์