“ปลัดสธ.” ยันไม่ขัดขวางใช้กัญชารักษาโรค เผยถอดพ้นยาเสพติดเป็นอำนาจ ป.ป.ส.

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ทราบกันว่าพืชหรือสมุนไพรทุกอย่าง ล้วนมีประโยชน์และโทษ สำหรับการผลักดันกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ โดย ณ ปัจจุบันนี้กัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เช่นเดียวกับพืชกระท่อมและพืชฝิ่น ซึ่งต่อมาทางสธ. เล็งเห็นประโยชน์ของกัญชาว่าบางอย่างมีประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่กฎหมายกลับกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด ฉะนั้น สธ.จึงต้องพิจารณาสารสำคัญบางอย่างในกัญชาเพื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์ รวมถึงเพื่อรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันได้ ก่อนนำมาสู่ความร่วมมือกับหน่วยงานในการวิจัยใช้ในผู้ป่วยและมองว่ายังเป็นการเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์จากกัญชาด้วย ขณะนี้เรียนว่ามีบางอย่างต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัย ถึงจะระบุได้อย่างชัดเจนว่าอะไรดีหรือไม่ดี แต่หากมีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดี ทางสธ.เชื่อว่าประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์

นพ.สุขุม กล่าวว่า ยืนยันว่า สธ.ไม่ได้ต่อต้านกัญชา กลับสนับสนุนให้เกิดการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ แต่เพราะว่ากัญชามีกฎหมายยาเสพติด ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสธ. รวมทั้งเล็งเห็นประโยชน์ของกัญชาเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยปัจจุบันทางสธ.พยายามดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอน เนื่องจากสธ.เป็นหน่วยงานหลักในการที่ต้องพัฒนาศึกษา วิจัย ก่อนที่มีการนำผลผลิตมาใช้กับผู้ป่วย หวังว่าในอนาคตจะมีข้อมูลศึกษาวิจัยจากต่างประเทศมาช่วยสนับสนุนให้มีข้อมูลหลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้น

“อย่างไรก็ตาม ทางสธ.มองว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ เรื่องภูมิปัญญาไทย ซึ่งปัจจุบันมีความร่วมมือจากหลายหน่วยงานภายใต้สังกัด เช่น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีสูตรตำรับยาไทยโบราณจำนวนมากที่มีส่วนผสมของกัญชา จึงต้องยอมรับว่าจะต้องนำภูมิปัญญาไทยมาใช้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันเพียงอย่างเดียว” นพ.สุขุม กล่าว

เมื่อถามว่าโอกาสที่จะถอดกัญชาออกจากพ.ร.บ.ยาเสพติด มีแนวโน้มอย่างไร นพ.สุขุม กล่าวว่า เนื่องจากกัญชาเกี่ยวกับกับกฎหมายยาเสพติด ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และอนุสัญญาองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสธ. แต่เมื่อสธ.เล็งเห็นว่าสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ จึงต้องเดินหน้าผลักดันก่อน เช่นเดียวกับกับการพยายามจะเดินหน้าเรื่องกัญชงด้วย ส่วนอนาคตหากมีข้อมูลวิจัยที่มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจน อาจนำมาสู่การพัฒนาด้านอื่น เช่น อาหารเสริม คุกกี้ สูตรอาหาร เป็นต้น

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์