‘พระไพศาล วิสาโล’ แนะ ‘บิ๊กตู่’ เปิดใจให้กว้าง-พูดให้น้อยฟังให้มาก นำไปสู่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

วันที่ 24 มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในนิทรรศการศิลปะการ์ตูน 72 ปี โดยอรุณ วัชระสวัสดิ์ “ล้อธรรม” ได้ถูกจัดขึ้นอีกครั้ง ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และครั้งนี้ภายในงานได้มีการจัดให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติทางสังคมและความคิด พูดคุยในหัวข้อ “คำถามร่วมสมัย กับพระไพศาล วิสาโล” โดย “หนุ่มเมืองจันท์” สรกล อดุลยานนท์, ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, เคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์บรรณาธิการบริหาร The Standard

โดย “พระอาจารย์ไพศาล” ได้ตอบคำถาม กรณีที่มีผู้ร่วมสนทนาได้ตั้งคำถามว่าหาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากจะขอธรรมะสักหนึ่งเรื่อง อยากจะให้เรื่องอะไรบ้าง ว่า หากได้มีโอกาสสนทนากับ พล.อ. ประยุทธ์ ก็คงอยากให้ท่านมีโอกาสรับฟังความเห็นที่หลากหลาย เปิดใจให้กว้าง เพราะว่าปัจจุบันนี้ผู้คนนับวันจะมีความคิดที่อดกลั้นอดทนต่อความเห็นต่างน้อยลง และไม่ใช่แค่นั้น ความต่างอย่างอื่นก็มีการอดทนน้อยลง อาทิ ความต่างทางศาสนา ความต่างด้านวัย ด้านเพศ ด้านประสบการณ์ ด้านอัตลักษณ์ ก็มีความอดทนต่ำมาก และการที่เราอดทนต่อความแตกต่างกันต่ำ ก็เพราะเราไม่เข้าใจ เราไม่รู้จักคนที่เขาต่างจากเรา แต่ถ้าหากมีโอกาสได้ฟังการสนทนาอยากจะให้เปิดใจให้กว้าง และอาจจะพูดให้น้อยลงฟังให้มากขึ้น นั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามอย่าว่าแต่พลเอกประยุทธ์เลย แม้แต่คนเราทุกวันนี้ก็มักจะฟังแต่สิ่งที่มันตรงกับใจเรา สิ่งที่มันสอดคล้องกับความคิดเรา และสิ่งที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือโซเซียลมีเดีย ที่ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือแม้กระทั่งข้อมูลข่าวสาร ตามเว็บไซต์ต่างๆ ทุกวันนี้เป็นสิ่งที่เราเลือก เพราะมันสอดคล้องกับความคิดของเรา มันยืนยันอคติของเรา มันจึงทำให้เราไม่สามารถที่จะรับรู้คนที่คิดต่างจากเราอย่างแท้จริง และคนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในภาวะของการโฆษณาชวนเชื่อตัวเอง หรือฝังหัวตัวเองด้วยโซเซียลมีเดียแบบนี้ บางครั้งเมื่อใช้ไปก็จะกลายเป็นสิ่งที่สะท้อนกลับมา ซึ่งสิ่งที่กลับมานั้นก็เป็นสิ่งที่มันออกมาจากปากของเราเอง

“ขนาดคนธรรมดายังได้เห็น ได้ยินกับสิ่งที่มันสอดคล้องกับความเข้าใจและคติของตนเอง แล้วนับประสาอะไรกับผู้ที่มีอำนาจ และหากผู้มีอำนาจได้ฟังคนที่คิดต่างจากตัวเองบ้าง อาตมาว่าความเข้าใจซึ่งกันจะมีสูง หรือความอดทนต่อความแตกต่างก็จะสูงขึ้น และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ควรจะเป็นสำหรับสังคมการเมืองที่มีความหลากหลายสูงมาก เพราะในปัจจุบันยิ่งมีความหลากหลายสูงมากคนก็ยิ่งแคบลง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทยหลายประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอังกฤษ หรืออเมริกาเองก็เช่นกัน”

 

“พระอาจารย์ไพศาล” กล่าวอีกว่า ในแง่ของธุรกิจถ้าผู้นำฟังน้อย หรือเรียนรู้น้อยก็ตามโลกไม่ทันปรับตัวไม่ถูก ธุรกิจก็มีปัญหา ถ้าทำธุรกิจแล้วขาดทุนมากขายไม่ออกก็จะกลายเป็นสัญญาณหนึ่งให้เขาปรับตัว แต่การเมืองนั้นบางทีจะไม่เห็นในรูปแบบของเม็ดเงิน แต่จะเชื่อแค่โพลก็ไม่ได้ เพราะโพลไม่แน่นอนมีการขึ้นลงตลอดเวลา ดังนั้นควรที่จะต้องมีกลไกที่ทำให้เราต้องฟังในสิ่งที่เราไม่อยากจะได้ยิน ซึ่งในกระบวนการระบอบประชาธิปไตยก็มีการมีกลไกที่ทำให้ต้องฟังความเห็นที่แตกต่าง

ทั้งนี้จริงอยู่ที่ว่าความเห็นต่างจะเกิดจากการมีวาระทางการเมืองที่แฝงเร้น แต่ถ้าเรามีอย่างน้อยก็เป็นโอกาสที่จะได้เปิดพื้นที่ในการรับฟัง และไม่เพียงแต่รัฐสภาที่มีฝ่ายค้าน สื่อมวลชนก็ควรที่จะทำหน้าที่นี้ในการเป็นเสียงต่างให้ผู้มีอำนาจได้ยิน