กต.เซ็นสัญญา “DGM” เดินหน้า “e-Passport” ยันกระบวนการโปร่งใสเป็นธรรม

วันที่ 10 ก.ค. 62 นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าว โครงการประกวดราคาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) ระยะที่ 3 ครั้งที่ 2 โดยระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการลงนามในสัญญาจ้างบริษัท DGM Consortium เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยให้ระยะเวลาในการวางระบบเพื่อเริ่มให้บริการผลิต e-Passport ภายใน 9 เดือน โดยสัญญามีกำหนดระยะเวลา 7 ปีหรือผลิต e-Passport ได้ครบจำนวน 15 ล้านเล่ม ภายใต้งบประมาณ 7.4 พันล้านบาท

นายธานีเปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้มีการหารือเรื่องการขยายอายุการใช้งานของ e-Passport โดยจะมีทั้งแบบ 5 ปีและแบบ 10 ปี ซึ่งผู้ยื่นคำร้องขอทำ e-Passport สามารถเลือกได้ว่าจะใช้รูปแบบอายุการใช้งานเท่าใด แต่ e-Passport แบบ 10 ปีจะให้บริการแก่ผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น จากปัจจัยเรื่องความเปลี่ยนแปลงของใบหน้าของผู้ถือ e-Passport โดยจะมีการหารือเรื่องค่าบริการของ e-Passport ทั้ง 2 รูปแบบ รวมถึงแนวทางการแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อขยายรูปแบบอายุของหนังสือเดินทางต่อไป คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในกลางปีหน้า

ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะมาใช้บริการทำ e-Passport นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุลได้ระบุเพิ่มเติมว่า ได้เตรียมที่จะเพิ่มจุดให้บริการอีก 15 จุดทั่วประเทศ ภายในระยะเวลาสัญญาจ้าง 7 ปี โดยจะมีการเพิ่ม 2-3 จุดในเร็ว ๆ นี้โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

นอกจากนี้ ยังจะมีเพิ่มชุดเครื่องมือผลิตหนังสือเดินทางเป็น 500 ชุด และมีการกำหนดให้ใช้ระยะเวลาการยื่นคำร้องขอทำ e-Passport ลดลงเหลือเพียง 12 นาที จากในปัจจุบันที่กำหนดไว้ที่ 20 นาที และยังจะลดระยะเวลาการส่งมอบเล่ม e-Passport ให้ผู้ยื่นคำร้องจาก 2 วันเหลือเพียง 1 วัน

ในโครงการประกวดราคาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำ e-Passport ระยะที่ 3 นี้ได้มีการกำหนดเพิ่มเติมเรื่องคุณสมบัติด้านความปลอดภัย (Security Feature) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการปลอมแปลง โดยเฉพาะเทคโนโลยีข้อมูลชีวมาตรซึ่งจะมีการเพิ่มเติมการจัดเก็บข้อมูลม่านตา เพิ่มเติมจากเดิมที่การจัดเก็บเฉพาะใบหน้าและลายนิ้วมือ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการยืนยันตัวบุคคลให้ชัดเจนแม่นยำยิ่งขึ้น

นายธานียืนยันว่า การผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์นี้เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ส่วนกระแสที่ว่าจะไม่มีการนำเทคโนโลยี Image Perforation ที่ใช้อยู่ในหนังสือเดินทางในปัจจุบันมาใช้ในการผลิต e-Passport รูปแบบใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้ต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัยของ ICAO จนเป็นปัญหาในการเดินทางนั้น นายธานีชี้แจงว่า ICAO ไม่ได้มีกำหนดมาตรฐานหนังสือเดินทางให้ต้องใช้เทคโนโลยี Image Perforation เท่านั้น ดังนั้นบริษัทผู้ผลิต e-Passport จึงสามารถใช้เทคโนโลยีอื่นได้โดยไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของ ICAO

ส่วนประเด็นด้านความโปร่งใสของโครงการ นายธานีได้ชี้แจงถึงกระบวนการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างที่มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทั้งการตั้งราคากลาง การยกร่างข้อกําหนดของผู้ว่าจ้าง (TOR) การพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทผู้เข้าร่วมประมูลและคุณสมบัติทางเทคนิคต่าง ๆ โดยใช้หลักการประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance)


ส่วนประเด็นที่มีการยื่นอุทธรณ์ของผู้ที่เข้าร่วมเสนอราคารายอื่นภายใน 7 วันหลังการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาอุทธรณ์และส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยคำอุทธรณ์และการร้องเรียน ซึ่งภายหลังการพิจารณาก็ได้มีมติยืนตามคำสั่งกระทรวงการต่างประเทศ ส่งผลให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถลงนามในสัญญาสั่งจ้างบริษัท DGM ได้เป็นที่เรียบร้อย