เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน เขียนบทความ “ถอดสมการ “ค่าโง่” เมกะโปรเจ็กต์”

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เขียนบทความ “ถอดสมการ “ค่าโง่” เมกะโปรเจ็กต์” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

หลายท่านคงเหมือนผมที่ยังค้างคาใจทุกครั้งเมื่อเจอคำว่า “ค่าโง่” ที่รัฐจะต้อง “จ่าย” เป็นเงินจำนวนมหาศาลยามเพลี่ยงพล้ำเสียทีในการทำโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ “เมกะโปรเจ็กต์” ร่วมกับภาคเอกชน เพราะเงินที่จ่ายเป็นค่าโง่นั้น คือ เงินภาษีของประชาชนอย่างเราๆ

ก่อนหน้านี้ ดร.ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ผู้รอบรู้ท่านหนึ่งในแวดวงการบริหารงานภาครัฐ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่ประเทศไทยขาดการลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์มานาน แล้วมาทุ่มลงทุนจำนวนมากในช่วงนี้ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่คนของรัฐจะถูกครอบงำโดยเอกชนและเกิดคอร์รัปชัน เนื่องจากขาดทักษะการกำกับดูแลโครงการขนาดใหญ่และซับซ้อน

“จริงหรือที่รัฐเสียท่าเอกชนเพราะคนของรัฐ “ขาดทักษะ” เราลองมาถอดสมการกัน ทีละบริบท”
บริบทแรก – ประเทศไทยมีเมกะโปรเจคมากแค่ไหน?

ข้อมูลการลงทุนโครงการที่เป็น “การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนฯ” หรือ พีพีพี ระหว่างปี พ.ศ. 2523 – 2557 มีเพียง 34 โครงการ หรือเฉลี่ยปีละ 1 โครงการ แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2562 มีมากกว่า 66 โครงการ เฉลี่ย 13 โครงการต่อปี มูลค่ารวม 1.66 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง มากถึง 57%

ตัวเลขนี้ยังไม่รวมโครงการขนาดการลงทุน 1,000-10,000 ล้านบาทที่รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจลงทุนเอง
บริบทที่ 2 – ทำไมถึงคิดว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” ถูกครอบงำ ?

โครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ มักมาพร้อมกับเงินทุนและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีความซับซ้อนทั้งด้านเงินลงทุน การก่อสร้าง การบริหารจัดการ การคิดผลตอบแทน และแผนการบริหารโครงการตลอดอายุสัญญา 30 – 50 ปี ทำให้มีข้อมูลและเอกสารเกี่ยวข้องจำนวนมาก

ขณะที่จุดเริ่มต้นของภาครัฐเป็นการเขียนทีโออาร์ การคัดเลือกเอกชนและการทำสัญญาในแต่ละโครงการ แต่ปัญหาอยู่ที่ฝ่ายรัฐจะต้องมีตัวแทนตั้งเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง เช่น ในการทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย จะประกอบด้วย เจ้าของโครงการ คือ การรถไฟฯ อัยการสูงสุดและกระทรวงการคลัง คณะกรรมการ อีอีซี เป็นอย่างน้อย แต่ละหน่วยงานก็จะถนัดและสนใจเฉพาะด้าน เช่น อัยการสูงสุดจะมองเรื่องกฎหมาย ส่วนด้านเทคนิคและผลตอบแทนจะเป็นหน้าที่ของกรรมการท่านอื่น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ทุกฝ่ายจะมีประสบการณ์ รอบรู้เท่าทันโลก เท่าทันเกมธุรกิจทุกแง่มุม รวมทั้งเท่าทันกลโกง

สรุป – การครอบงำและคอร์รัปชันจึงเกิดขึ้นเมื่อ

1. คนของรัฐ (บางคน) แกล้งโง่ เพราะถูก “เบื้องบน” สั่งมา หรือไปรับผลประโยชน์จากเอกชน

2. คนของรัฐ (บางคน) ไม่ช่ำชอง ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมนักลงทุน หรือบางกรณีก็รีบเร่งเกินไปเพราะถูกกดดันเรื่องเวลา (จากเบื้องบน) บ้างก็ไม่ใส่ใจ รวมความคือ ขาดทักษะ

3. มีการเอื้อประโยชน์กันระหว่างกลุ่มทุนกับนักการเมืองหรือคนในรัฐบาล ซึ่งข้อนี้คือมหันตภัยที่ทวีความเสียหายจากคอร์รัปชันและค่าโง่

การที่รัฐตกเป็นจำเลยถูกฟ้องเรียกค่าโง่นับแสนล้านบาทมากถึง 14 คดี นับตั้งแต่ปี 2532 ถึงปัจจุบันที่ทั้งรัฐ – เอกชนผลัดกันชนะ ผลัดกันแพ้ นับเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดของคนไทย ถึงแม้จะมีข้อมูลว่า การทำสัญญากับเอกชนในระยะหลังมักมีการผูกปมซ่อนเงื่อนให้รัฐต้องเสียค่าโง่ในอนาคตและต้องจ่ายมากขึ้นในแต่ละครั้ง แต่ก็ยากที่จะพิสูจน์ว่าเป็นเพราะคนของรัฐขาดทักษะ ประสบการณ์ ไม่รู้เท่าทันจริงๆ หรือแกล้งโง่กันแน่!

“ค่าโง่” ป้องกันได้ถ้ารัฐ “เปิดเผยข้อมูล”

“เมกะโปรเจ็กต์”จะเกิดประโยชน์คุ้มค่าได้จริงก็ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกเอกชนและการทำสัญญาต้องยึดกติกาที่โปร่งใส รัดกุม ชัดเจน ระหว่างกัน กล่าวคือ

“รัฐ” ต้อง “Full Control” รักษาเงื่อนไขที่จะควบคุม – แทรกแซงโครงการได้เมื่อจำเป็น

“เอกชน” ต้อง “Full Responsibility” มีความรับผิดชอบเต็มที่ต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการที่สำคัญอย่างมาก คือ “ประชาชน” ต้อง “Full Participation” เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของประเทศ โดยรัฐจะต้องเป็นฝ่ายเชิญชวนสาธารณชนให้คอยช่วยเป็นหูเป็นตาไม่ให้ใครบิดเบือนแทรกแซงได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้อง “เปิดเผยข้อมูล” ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อจะได้ช่วยกันติดตามตรวจสอบ ในฐานะเจ้าของเงินที่ไม่ควรเสีย ดังที่ใครๆ เรียกว่า “ค่าโง่”!