“ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง” เพิ่มอากาศยานขึ้นทำฝนหลวง บรรเทาภัยแล้ง หลังปริมาณน้ำเหลือไม่ถึงร้อยละ 5

‘ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง’ เพิ่มอากาศยานขึ้นทำฝนหลวง บรรเทาภัยแล้ง และเติมน้ำให้เขื่อนป่าสักฯ หลังปริมาณน้ำเหลือไม่ถึงร้อยละ 5

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ท่าอากาศยานกองบิน 2 กองทัพอากาศ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดลพบุรี ได้นำอากาศยานเครื่องบินลำเลียงแบบ Casa (คาซ่า) จำนวน 2 ลำ จากกรมฝนหลวง และการบินเกษตร ขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวง หลังเรดาห์ตรวจอากาศ สามารถตรวจพบสภาพความชื้น บนชั้นอากาศที่เหมาะสม กับการปฏิบัติการทำฝนหลวง

นายขวัญชัย เพ็ชรกลับ นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงลพบุรี กล่าวว่า หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงลพบุรี ได้ปรับแผนการปฏิบัติงาน โดยการเพิ่มรอบในการปฏิบัติการขึ้นทำฝนหลวง ในทุกครั้งเมื่อมีโอกาส และสภาพความชื้นเหมาะสมในแต่ละวัน โดยได้ปรับการนำอากาศยาน เครื่องบินลำเลียงแบบ Casa (คาซ่า) จำนวน 2 ลำ มาใช้ในการปฏิบัติงานแทน อากาศยานชุดเดิม เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่า สามารถบรรทุกสารได้มากว่า และมีห้วงระยะเวลาในการปฏิบัติการได้นานกว่า โดยล่าสุดได้ใช้อากาศยาน จำนวน 2 ลำ บรรทุก สารฝนหลวงลำละ 1 ตัน จำนวน 2 เที่ยวบิน รวม 4 ตัน ขึ้นปฎิบัติการเติมสารฝนหลวงใส่กลุ่มเมฆขนาดใหญ่ ที่ระดับความสูง ตั้งแต่ 6,000 ฟุต ถึง 8,000 ฟุต เหนือท้องฟ้าในพื้นที่ รอยต่อระหว่างจังหวัดลพบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย โดยมีเป้าหมาย เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และเติมน้ำให้แก่อ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลือไม่ถึง 5% น้อยกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่าทุกปี โดยล่าสุดปริมาณน้ำในเขื่อน ณ วันที่ 21 กรกฎาคม อยู่ที่ 45.28 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 4.72 จากปริมาณเก็บกักสูงสุดที่ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยยังมีปริมาณน้ำที่ไหลลงพื้นที่รับน้ำของเขื่อน ทำให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต้องลดการระบายน้ำ จากเดิมวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เหลือเพียงวันละ 70,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อบริหารจัดการน้ำ สำหรับการรักษาระบบนิเวศน์ ท้ายน้ำและสามารถรองรับการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดไปให้ได้ตลอดสิงหาคมนี้ โดยทางสำนักงานชลประทานที่ 10 ได้ประชาสัมพันธ์ ขอให้เกษตรกรที่ต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธ์ ชะลอการเพาะปลูกพืชไร่ และนาข้าวออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร จากปัจจัยการขาดแคลนน้ำไว้ด้วย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์