ตะลึง มึนงง กันไปทั้งศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อมีข่าวว่า “จักกพันธุ์ ผิวงาม” รองผู้ว่าฯกทม. ได้ยื่นหนังสือลาออกจากเก้าอี้ อย่างไร้ปี่-ไม่มีขลุ่ย ต่อ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา
สะพัดกันให้แซ่ดว่า เหตุที่ “จักกพันธุ์” ไขก๊อก อาจเพราะถูกกดดันหนักให้เซ็นอนุมัติโครงการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน เพื่อผลิตไฟฟ้า ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม โครงการละ 6,570 ล้านบาท รวม 13,140 ล้านบาท
หากเป็นเหตุจากเรื่องนี้จริง ก็มีคำถามตามมาว่า โครงการนี้มีอะไรไม่ชอบมาพากล ถึงกับทำให้ “จักกพันธุ์” ตัดสินใจไขก๊อก
ย้อนไป เมื่อวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2561 ทางกองกำจัดมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ลงประกาศร่างทีโออาร์ประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนโครงการดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ www.gprocurement.go.th ของกรมบัญชีกลาง เพื่อรับฟังคำวิจารณ์เพียงแค่ 4 วัน
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์กันขรมว่าส่อจะล็อกสเปกให้บางรายหรือไม่ เพราะกำหนดเงื่อนไขแบบละเอียดยิบ แถมยังมีกำหนดเวลาให้ยื่นซองอย่างกระชั้นชิด ที่แทบจะปิดประตูไม่ให้บริษัทจากต่างประเทศร่วมประมูล แม้จะมีเทคโนโลยีดีแค่ไหนก็ตาม เพราะเวลากระชั้นชิดมาก ไม่สามารถแปลเอกสารเป็นพันๆ หน้าให้เป็นภาษาไทย แล้วต้องวิ่งไปขอการรับรองจากสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ อีก
ถึงขนาดสถานทูตญี่ปุ่นทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย และ กทม.ขอให้ยืดเวลาการประมูลออกไปเพื่อให้เอกชนของญี่ปุ่นมีโอกาสเข้าร่วม แต่ก็ไม่ได้การตอบรับ ทาง กทม.ยืนยันเดินหน้าประมูลตามเดิม
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องราคากลางค่าจ้างกำจัดขยะตันละ 900 บาท ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าสูงกว่าการจ้างในระบบเดียวกันอย่างภูเก็ต แค่ตันละ 300 บาท/ตัน หรือที่ขอนแก่นก็เพียงตันละ 250 บาท
อีกประเด็นที่ทำให้มึนงงกันเป็นแถว คือการสืบราคากลางอ้างอิงจากบริษัทค้าปลีก-ค้าส่งบุหรี่ ที่ตลอด 5 ปีของการทำธุรกิจมีรายได้มากสุดแค่ 30 บาท แต่ กทม.ดันเอามาสืบราคากลางอ้างอิงโครงการที่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท
แต่ กทม.ก็ไม่สนเสียงนกเสียงกา ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนมาร่วมประมูลเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 มีเอกชนร่วมยื่นซองประมูลโครงการที่หนองแขม 5 ราย ส่วนโครงการที่อ่อนนุช 8 ราย
มีหลายปมที่ดูท่าจะไม่ชอบมาพากล จนมีการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ
ทาง ป.ป.ช.ก็ทำเรื่องถึงปลัด กทม. เมื่อวันที่ 4 มีนาคม เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว อาทิ หลักเกณฑ์และพิธีพิจารณาการกำหนด ทีโออาร์ หลักเกณฑ์และที่มาการอ้างอิงและกำหนดราคากลาง และสำเนาทะเบียนประวัติข้าราชการ (ก.พ.7) ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน
ไม่รู้ว่า เพราะ ป.ป.ช.เริ่มเข้ามาตรวจสอบหรือไม่ ทำให้มีข้าราชการ 3 คนที่เป็นกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาโครงการดังกล่าว ขอลาออก โดยระบุเหตุลาออกว่าติดภารกิจอื่น และไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะพิจารณาเรื่องนี้
แต่ทาง กทม.ก็ยังเดินหน้าต่อ ด้วยการตั้งข้าราชการ 3 คนเข้าไปเป็นกรรมการแทน เพื่อดันทุรังโครงการนี้ให้ได้
กระทั่งกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ก็มีมติตามที่รู้ๆ กันอยู่ แล้วส่งเรื่องไปถึง “จักกพันธุ์ ผิวงาม” รองผู้ว่าฯกทม.ในฐานะที่กำกับดูแลเป็นคนเซ็นอนุมัติ
แต่ด้วยโครงการที่ส่อว่าไม่ชอบมาพากลในหลายเรื่อง “จักกพันธุ์ ผิวงาม” จึงเลือกที่ลาออกจากเก้าอี้รองผู้ว่าฯกทม. ดีกว่าเซ็นไปแล้วเสี่ยงกับคุกตะราง