‘ไซยะบุรี’ เผยรอจีนปล่อยน้ำ-ฝนตามฤดูกาล พร้อมเดินเครื่องทดสอบเต็มรูปแบบ ส.ค.นี้

ผู้บริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ‘ไซยะบุรี’ รอจีนปล่อยน้ำ และฝนตามฤดูกาล ก็สามารถเดินเครื่องทดสอบผลิตไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ส.ค.62 พร้อมขายไฟเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการให้กฟผ.ตามกำหนด ย้ำ! ไม่ใช่ต้นเหตุน้ำแล้ง เพราะปีนี้แล้งธรรมชาติ

ไซยะบุรี สปป.ลาว/ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP กล่าวถึงความพร้อมการเปิดขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ว่า มีการวางแผนการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้ง 7 ยูนิตที่จะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 6 ยูนิต และจะทดสอบครบทั้ง 7 ยูนิตช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2562 ก่อนจะเริ่มขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2562 ทุกอย่างเป็นไปตามแผน ส่วนการดูแลท้ายน้ำ ทางโครงการผลิตไฟฟ้าไซยะบุรีใช้หลักการบริหารจัดการน้ำและการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าครอบทั้ง 7 ยูนิตบนพื้นฐานของปริมาณน้ำที่เข้ามา หรืออินโฟลว์ เท่ากับปริมาณน้ำที่ออก คือเอาต์โฟลว์เสมอ เท่ากันทุกวัน ไม่มีการเก็บกักน้ำใดๆ ทั้งนี้ กำลังผลิตของโรงไฟฟ้าจะต้องมีแรงน้ำไหลเข้าระบบในอัตรา 4,000 ลบ.ม./วินาที หากเกินกว่ากำหนดจะปล่อยผ่านทางสปิลเวย์

“ยืนยันว่าไม่มีการเก็บกักน้ำใดๆ ขอให้ประชาชนท้ายน้ำของไซยะบุรีสบายใจได้ว่ามีน้ำใช้ตลอดเวลาตามธรรมชาติ” นายธนวัฒน์

นายธนวัฒน์กล่าวว่า ไซยะบุรีและ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะการออกแบบตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) ทั้งนี้ ภาพความแห้งแล้งที่ปรากฏตามข่าวนั้น ต้องยอมรับว่าปีนี้แล้งจริง ซึ่งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้แจ้งเตือนปรากฏการณ์นี้แล้ว ดังนั้น เมื่อน้ำจากจีนและแม่น้ำสาขาใน สปป.ลาวมีน้อย การปล่อยน้ำตามธรรมชาติก็น้อยตามไปด้วย ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ประมาณ 1,700 ลบ.ม./วินาที หากเขื่อนจิ่นหงปล่อยมาบ้าง โฟลว์เราก็ขึ้นตาม ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำตามฤดูกาลช่วงเดือนสิงหาคมจะทำให้ระดับน้ำที่เข้ามาในโครงการอยู่ที่ประมาณ 3,000 ลบ.ม./วินาที เพียงพอสำหรับการทดสอบการผลิตไฟฟ้าได้ทั้ง 7 ยูนิต

เมื่อถามว่า จะมีการลดระดับน้ำจาก 275 เมตร มาที่ประมาณ 240 เมตร เพื่อช่วยท้ายน้ำหรือไม่ นายธนวัฒน์กล่าวว่า หากปล่อยน้ำตามที่กล่าว ประชาชนที่อยู่รอบแม่น้ำโขงเหนือไซยะบุรีจะได้รับผลกระทบ เช่น เรือเกยตื้น รวมทั้งการปล่อยน้ำลงเร็วก็จะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ตลิ่งพังทั้ง 2 ด้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง

“เราหวังว่าปีนี้ฝนจะล่าช้าเท่านั้น ขอให้ช่วงสิงหาคมนี้มีน้ำมา เมื่อสักครู่นี้ได้กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโครงการขอให้ฝนมา เพื่อเราจะได้ใช้น้ำทดสอบระบบ และไหลลงไปเป็นทรัพยากรและเป็นประโยชน์กับท้ายน้ำ” นายธนวัฒน์ ระบุ