ศาลปกครองพิพากษาให้ กกต.ชดใช้ “ภุชงค์” กรณีเลิกจ้างและให้พ้นจากตำแหน่งเลขาฯกกต.

ศาลปกครองพิพากษาให้ กกต.ชดใช้ค่าเสียหายให้นายภุชงค์ นุตราวงศ์ กรณีเลิกจ้างและให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ กกต.

เมื่อวันอังคารที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ บ. ๙๗/๒๕๕๙ หมายเลขแดงที่ บ. ๒๓๐/๒๕๖๒ ระหว่างนายภุชงค์ นุตราวงศ์ ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒

ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดี ระยะเวลา ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๕ ถึงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๐ ซึ่งกำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานทุกปีงบประมาณ (วันที่ ๑ ตุลาคม ถึง ๓๐ กันยายน ของปีถัดไป) ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีประกาศ กกต. ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ เลิกจ้างผู้ฟ้องคดีและให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ กกต. โดยให้เหตุผลเลิกจ้างว่าผู้ฟ้องคดีมีผลการประเมินการปฏิบัติงานปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ไม่บรรลุเป้าหมาย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี โดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศ กกต. เรื่อง ให้เลขาธิการ กกต. พ้นจากตำแหน่ง ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ และมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ กกต. ดังกล่าว รวมทั้งให้สำนักงาน กกต. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าจ้างและค่าตอบแทนที่ผู้ฟ้องคดีเคยได้รับ และค่าเสียหายต่อชื่อเสียงให้แก่ผู้ฟ้องคดี จำนวน ๗,๐๖๐,๓๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ศาลมีคำสั่งไม่รับคำขอทุเลาคำบังคับตามประกาศ กกต. เรื่อง ให้เลขาธิการ กกต. พ้นจากตำแหน่ง
ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๘

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กกต. ชุดเดิม กำหนดแบบประเมิน ๒ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ การประเมินผลการดำเนินงาน
ตามแผนปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นชอบแล้ว ค่าคะแนน ๗๐ คะแนน ส่วนที่ ๒ การประเมินผลการดำเนินงาน ตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือตามที่ผู้ว่าจ้างหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มอบหมาย ค่าคะแนน ๓๐ คะแนน รวม ๑๐๐ คะแนน ต่อมา ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีมติให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานเพิ่มเติมจำนวน ๙ โครงการ / กิจกรรม และดำเนินการโครงการประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยกำหนดแบบประเมินเป็น ๔ หัวข้อหลัก คือ ๑. การดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ความเห็นชอบแล้ว หรือตามข้อที่มีบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมคะแนนร้อยละ ๓๐ โดยพิจารณาตามโครงการ/กิจกรรมตามแผนปฏิบัติงานปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ จำนวน ๑๐ โครงการ/กิจกรรม ๒. การดำเนินงานตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามที่กำหนดในบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซึ่งรวมโครงการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ค่าคะแนนร้อยละ ๓๐ ๓. การบริหารตามหลักธรรมาภิบาล โดยพิจารณาจากพฤติกรรมค่าคะแนนร้อยละ ๒๐ และ ๔. งานท้าทาย เพื่อพัฒนาองค์กร ค่าคะแนนร้อยละ ๒๐

ศาลเห็นว่า แม้การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง เป็นอำนาจของคู่สัญญาฝ่ายรัฐ
แต่ข้อ ๖.๕ ของสัญญาจ้างกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญานี้จะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน และทำความตกลงร่วมกันเป็นหนังสือระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง แต่ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับร่างบันทึกแก้ไขสัญญาจ้าง และสงวนสิทธิไม่ยอมรับการประเมิน โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๒๕/๒๕๕๘

เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ว่าให้ถือปฏิบัติตามสัญญาเดิมโดยเคร่งครัด และให้ผู้ฟ้องคดีรายงานผล
การปฏิบัติงานปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ในคราวเดียวกัน จึงรับฟังได้ว่า ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างตามที่กำหนดในข้อ ๖.๕ ของสัญญาจ้าง ดังนั้น การที่คณะอนุกรรมการเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานได้นำแบบประเมินผลการปฏิบัติงานที่มีการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การประเมินขึ้นใหม่ในสาระสำคัญแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิม และเป็นการเพิ่มเติมแบบการประเมินมาใช้ประเมินผลการปฏิบัติงานผู้ฟ้องคดีปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๗ มาแล้ว ๖ เดือน จึงเป็นการประเมินการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง ข้อ ๔.๒

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปว่า คณะอนุกรรมการเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี ในการประชุมครั้งที่ ๒๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เห็นว่า การดำเนินงานตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามสัญญาข้อ ๔.๒ ซึ่งมีสัดส่วนคะแนนตามแบบการประเมินผลร้อยละ ๖๐ ในส่วนนี้ผู้ฟ้องคดีผ่านการประเมิน
แต่เกณฑ์การประเมินด้านการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลและงานท้าทายซึ่งเป็นเกณฑ์การประเมินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิ่มขึ้นมาใหม่ และมีสัดส่วนคะแนนถึงร้อยละ ๔๐ โดยในส่วนของงานท้าทายจำนวน ๕ โครงการ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติเพิ่มเติมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ และมีคะแนนสัดส่วนร้อยละ ๒๐ ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับคะแนน จึงเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีมีคะแนนรวมของการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ จึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า การที่คณะอนุกรรมการนำหลักเกณฑ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิ่มขึ้นใหม่ โดยมิได้แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างมาใช้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี และไม่ชอบด้วยเงื่อนไขของสัญญาจ้าง ตามข้อ ๔.๒ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีมติเลิกจ้างผู้ฟ้องคดี โดยมีเหตุผลว่า ผลการประเมินการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ไม่ผ่านการประเมินตามความเห็นของคณะอนุกรรมการดังกล่าว และมีประกาศ กกต. เรื่อง ให้เลขาธิการ กกต. พ้นจากตำแหน่ง ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ จึงเป็นการเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีก่อนครบกำหนดสัญญาจ้างที่ไม่ชอบด้วยสัญญาจ้าง โดยไม่จำต้องเพิกถอนประกาศ กกต. ดังกล่าว ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากมีผลเป็นเพียงการบอกเลิกจ้างเป็นหนังสือ

ส่วนของคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ให้สำนักงาน กกต. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าจ้างและประโยชน์ตอบแทนอื่น รวมทั้งค่าเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติยศ จำนวน ๗,๐๖๐,๓๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ศาลเห็นว่า การใช้สิทธิเรียกร้องความเสียหายต่อสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีเคยได้รับเป็นเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามสัญญาจ้างพิพาท ซึ่งเป็นการคิดคำนวณจากระยะเวลาที่ถูกบอกเลิกจ้างก่อนครบกำหนดสัญญาจ้าง จำนวน ๑๓ เดือน อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องความเสียหายต่อสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีเคยได้รับตามสัญญาจ้าง และถือเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการเลิกจ้าง

พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ใช้เงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี จำนวน ๒,๐๑๐,๓๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด กับให้คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก