มท.ประกาศยกระดับน้ำท่วมอุบลฯ เป็นสาธารณภัยขนาดใหญ่ ระดับ 3 รับมือฝนอีกระลอก

มท. ประกาศยกระดับน้ำท่วมอุบลฯ เป็นสาธารณภัยขนาดใหญ่ ระดับ 3 ตั้งศูนย์บัญชาการส่วนหน้า คุมพื้นที่ 4 จังหวัด อุบลฯ ยโสธร ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด เร่งช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย

เมื่อวันที่ 20 กันยายน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัย เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ คือระดับ 2 เป็นระดับ 3 ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 2558 ทั้งนี้ เนื่องจากกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ตรวจสอบแนวโน้มสถานการณ์ ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ พบว่าจากอิทธิพลของร่องมรสุมอาจส่งผลให้เกิดประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น และฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกรมชลประทาน ซึ่งเห็นว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลมีระดับลดลงแต่ยังคงล้นตลิ่งสอดคล้องกับความเห็นเชิงพื้นที่ของ จ.อุบลราชธานี ว่าสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง และสถานการณ์ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ดังนั้นผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงประกาศยกระดับดังกล่าว โดยให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง ดำเนินการและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลตลอดจนอำนวยการประสานงานประเมินสถานการณ์ติดตามเฝ้าระวังวิเคราะห์สถานการณ์รายงานเสนอความคิดเห็น ต่อผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อพิจารณาสั่งการเชิงนโยบาย จัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติส่วนหน้าขึ้นที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสารภัยเขต 13 อุบลราชธานีโดยมีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้กำกับควบคุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษและร้อยเอ็ด โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย พร้อมส่วนราชการต่างๆ ร่วมบูรณาการช่วยเหลือประชาชน

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จัดตั้งส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินตามที่ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เห็นสมควรและให้ประสานการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย โดยมีหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมทั้งเอกชน ฝและจิตอาสาเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่างๆ โดยเร็ว และเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลาย จะเร่งสำรวจความเสียหายในด้านต่างๆ เพื่อทำการฟื้นฟูให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานน้อมนำพระราชกระแสดํารัสของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องการคิดปรับแผนแนวทางแผนเผชิญเหตุทั้งในภาพรวมและเฉพาะเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นตลอดจนรวบรวมความเสียหาย ประมาณการต่อยอดเตรียมการสิ่งใหม่ๆและสิ่งที่ยังไม่ได้ทำเพื่อลดผลกระทบบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มความสามารถ

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์