คนไข้ (บัตรทอง) อุ่นใจ รับยาที่ร้านใกล้บ้าน เริ่ม 1 ตุลาคมนี้

มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 ที่เห็นชอบให้ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ประเภท 1 (ขย.1) ด้วยความสมัครใจเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งจะเริ่มดำเนินการนำร่องในปีงบประมาณ 2563 ตั้งเป้าใน 50 โรงพยาบาล 500 ร้านขายยาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไปนั้น

หากถามว่า วันนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีความพร้อมแค่ไหน ล่าสุด นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. บอกว่า เรื่องนี้ยังเป็นโครงการทดลอง ไม่ได้ทำทั่วประเทศ ในส่วนของการนำร่องถือว่ามีความพร้อม ขณะนี้มีโรงพยาบาลและร้านขายยาที่สมัครใจเข้าโครงการทยอยลงทะเบียนเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ก็มีการทำความเข้าใจกับเครือข่ายอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งไม่น่าหนักใจ เพราะทั้งโรงพยาบาล และร้านขายยาทั้งหมดเป็นมืออาชีพ

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยนำร่องใน 4 กลุ่มโรคนั้น ได้มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจว่า โครงการนี้เป็นเรื่องของความสมัครใจ ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย และในขั้นตอน ก็ยังไปรักษาที่โรงพยาบาล ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

“เมื่อพบแพทย์แล้วรับยาไปครั้งหนึ่งแล้ว ในการรับยาครั้งที่ 2-3 แพทย์จะพิจารณาว่าอาการมีการเปลี่ยนแปลงหรือคงที่ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแค่รับยาเป็นระยะๆ ก็จะถามผู้ป่วยว่ามีความสนใจจะไปรับยาใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงานหรือไม่ จะได้ไม่ต้องเดินทางไกล ไม่ต้องรอคิวนาน ถ้าผู้ป่วยตัดสินใจว่าจะไปรับยาที่ร้านใกล้บ้าน โรงพยาบาลจะดำเนินการให้ เมื่อไปรับยาที่บ้านระยะหนึ่งแล้ว ก็จะมีการส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์ต่อ เพื่อติดตามอาการว่ามีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร เช่น เบาหวาน หรือความดัน ร้านขายยาจะมีเภสัชกรที่มีความสามารถวัดความดัน เจาะเลือดตรวจน้ำตาลได้ เขาก็จะดูแลให้ ถ้าอาการไม่เปลี่ยนแปลงก็จ่ายยาให้กินต่อเรื่อยๆ หรือโรคจิตเวช ถ้ากินยาสม่ำเสมอ อาการจะไม่รุนแรงขึ้น สามารถควบคุมได้ หอบหืดก็เช่นกัน ถ้ากินยาสม่ำเสมอก็คุมอาการได้ เป็นต้นŽ” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

ถามว่านโยบายนี้จะส่งผลดีต่อประชาชนที่ไปใช้บริการอย่างไร นพ.ศักดิ์ชัย บอกว่า 1.ยาที่จ่ายให้ผู้ป่วย เป็นยาชนิดเดียวกับที่โรงพยาบาลจ่ายให้ผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลจะเป็นหน่วยจัดยาให้กับร้านขายยา 2.ประชาชนจะเป็นคนเลือกและตัดสินใจว่าจะรับยาที่โรงพยาบาล หรือมั่นใจแล้วจะขอไปรับที่ร้านขายยาก็ได้ ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มใดๆ เพราะฉะนั้นทุกอย่างอยู่ที่ความมั่นใจของผู้ป่วยเอง แต่ยืนยันว่าร้านขายยาทุกร้านเป็น ขย.1 มีมาตรฐานสูงสุด จะมีเภสัชกรที่ได้มาตรฐานอยู่ประจำร้าน เภสัชกรเหล่านี้สามารถเป็นที่ปรึกษาในการให้ผู้ป่วยใช้ยาได้อย่างถูกต้องได้ ในพื้นที่หลายชุมชน ขณะนี้ร้านขายยาให้คำแนะนำประชาชน ผู้ป่วยขนยาจากที่บ้านไปเป็นถุงๆ ให้เภสัชกรแนะนำ เพราะบางทีเหลือมาก เภสัชกรจะทำหน้าที่นี้ เมื่อใช้ยาถูกต้อง ยาก็มีประโยชน์ไม่ถูกทิ้งไว้ที่บ้าน ไม่กินพร่ำเพรื่อจนเป็นผลเสียต่อร่างกาย

เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า จากมติของบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 จะเป็นบันไดแรกของระบบบริการประชาชนที่จะทำให้ประชาชนมีทางเลือก และโรงพยาบาลไม่แออัด ถ้าสำเร็จ จะขยายไปในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น คลินิกพยาบาล การเจาะเลือดส่งเข้าวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ กายภาพบำบัด ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีการหารืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและทัศนคติของประชาชน


“ส่วนผลดีของโรงพยาบาล คือ 1.มีการประเมินว่าโครงการนี้หากทำทั้งปีใน 50 โรงพยาบาล 500 ร้านขายยา จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่นั่งรอรับยาหน้าห้องยาของโรงพยาบาลได้ประมาณ 2 ล้านคน นั่นคือ สามารถทำให้โรงพยาบาลลดภาระ ลดความแออัด และป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ 2.ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ เข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น หมายความว่ามีเวลานำยาไปขอรับคำปรึกษาจากเภสัชกรได้ เพราะที่ผ่านมา เมื่อไปโรงพยาบาล เภสัชกรพยายามจะแนะนำวิธีใช้ยาก็จริง แต่มีเวลาจำกัด เพราะต้องให้บริการผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ถ้าไปร้านขายยาก็สามารถพูดคุยได้นานขึ้น ตั้งเป้าว่าร้านขายยาควรให้คำปรึกษาวันละไม่เกิน 15 คน ซึ่งจะทำให้ความมั่นใจในการใช้ยาดีขึ้น ความรอบรู้ในการใช้ยาดีขึ้น ทั้งประชาชนและส่วนของระบบบริการ นอกจากนี้ ในส่วนของหลักประกันสุขภาพ มีการคำนวณไว้ว่า แต่ละปีมียาที่ติดค้างอยู่ในบ้านประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งสูงมาก โดยเป็นยาที่จ่ายให้ผู้ป่วย แต่กินไม่หมด หรือบางครั้งไม่มั่นใจ ก็ทิ้งไว้ที่บ้าน สมัยหนึ่ง เรามีโครงการยาแลกไข่ ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาให้กับประเทศได้ ถ้าสามารถทำให้ลดไปร้อยละ 50 หรือ ประมาณ 1,000 ล้านบาท ก็ถือว่าสำเร็จ”Ž นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวและว่า เหล่านี้คือประโยชน์ที่จะตามมา แต่สิ่งสำคัญคือ ความสะดวกของผู้ป่วย เพราะรัฐมนตรีว่าการ สธ. มีนโยบายว่า อะไรก็ตามที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ให้ดำเนินการทันที

วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ถ้าประชาชนจะไปรับยาที่ร้านต้องทำอย่างไร นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า จะยกตัวอย่างที่ โรงพยาบาลชลบุรี ซึ่งเข้าโครงการ เมื่อไปพบแพทย์จะได้รับการตรวจโรคตามปกติ ถ้าอาการสม่ำเสมอแล้ว พยาบาลจะถามผู้ป่วยว่าสนใจรับยาที่โรงพยาบาล หรือที่ร้านขายยาหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยตัดสินใจว่าจะไปรับยาที่ร้าน ก็นำใบสั่งยาไปรับที่ร้าน สำหรับใบสั่งยานั้น ระยะแรกจะเป็นกระดาษ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างวางระบบไอทีเพื่อความสะดวก ส่วนกรณีที่สภาเภสัชกรรมแนะนำให้ผู้ป่วยรับยาทุกเดือน ดีกว่าไปรับทุก 3 เดือน 6 เดือน เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแพทย์จะตัดสินใจ เพราะต้องพิจารณาจากอาการของโรคนั้นๆ และสภาพของผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ เป้าหมายในอนาคตคือ จะให้ใช้ใบสั่งไปจัดยาที่ร้าน แต่เรื่องนี้จะต้องทำให้ประชาชนมั่นใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียก่อน

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เบื้องต้นมีผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด จิตเวช หรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล ที่จะเริ่มทดลองให้ไปรับยาที่ร้าน แต่ก็ยังมีอีกบางโรคที่สามารถไปรับยาที่ร้านได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกโรคเรื้อรังต่างๆ หรือโรคที่อาการไม่รุนแรง เช่น หวัด เป็นต้น ที่สามารถไปรับยาที่ร้านและให้ สปสช.ไปตามจ่ายเงิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเรื่องของอนาคต เพราะต้องมีการทำวิจัยและประเมินผลก่อน สำหรับโครงการนี้ก็เช่นกัน จะมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เข้ามาติดตาม วิจัย และประเมินผลควบคู่กันไป ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ หน่วยบริการ การบริการ ความพึงพอใจของประชาชน มีสิ่งใดต้องปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงบ้าง โดยจะประเมินผลหลังเริ่มโครงการแล้ว 3 เดือน เพื่อดูว่ามีข้อแนะนำเบื้องต้นอย่างไร มีประเด็นที่ต้องปรับปรุงหรือไม่ ซึ่งโครงการนี้จะทดลอง 1 ปี เพื่อสรุปผลว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากผ่านจะดำเนินการขยายโครงการทั่วประเทศ และทำให้เป็นสิทธิประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจะทำให้ร้านขายยา ขย.1 สามารถไปขึ้นทะเบียนเข้าโครงการได้ทั้งหมด ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะให้กับร้านขายยานั้น เบื้องต้นกำหนดไว้ใบสั่งยาละ 70 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขจากราคากลางของ สธ.ที่มีประกาศไว้ ส่วนโรงพยาบาลที่จ่ายยาไปให้ร้านขายยาจะได้แห่งละ 33,000 บาท ต่อ 1 ร้านที่เข้าโครงการ และร้านขายยาไม่ได้ทำหน้าที่เพียงจัดยาให้ผู้ป่วยเท่านั้น แต่จะให้คำแนะนำการใช้ยา และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพด้วย

ขอให้เชื่อมั่นว่า โครงการนี้พร้อมทั้งการดำเนินการ งบประมาณ สิ่งสำคัญคือ ต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์สร้างทางเลือกให้กับประชาชนŽ เลขาธิการ สปสช.กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 28 ก.ย.2562