“ทีเส็บ” เปิดตัวแคมเปญ Meet Sustainable 7 มาตรฐาน หวังเป็นผู้นำภูมิภาคเอเชีย ตั้งเป้าแซงโตเกียวในอนาคต

ทีเส็บเปิดตัวแคมเปญ Meet Sustainable 7 มาตรฐาน หวังเป็นผู้นำภูมิภาคเอเชีย ตั้งเป้าแซง โตเกียว ในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดตัวแคมเปญ ‘Meet Sustainable’ มอบงบประมาณสนับสนุนงานที่จัดตามแนวทางเพื่อความยั่งยืน ครั้งแรกในอุตสาหกรรมไมซ์ไทย มุ่งเสริมแกร่งบทบาทประเทศไทยให้ฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับภูมิภาค ตั้งวงเงินสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาท สำหรับภาคการจัดประชุมองค์กรและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมคณะเป็นชาวต่างชาติอย่างน้อย 50 คน โดยจะต้องพำนักในอยู่ประเทศไทยอย่างน้อย 3 คืน และนำเอาแนวทางการจัดงานอย่างยั่งยืนตามที่ระบุไว้ในเกณฑ์ของทีเส็บมาใช้ในการจัดงาน

นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการ ทีเส็บ สายงานธุรกิจ กล่าวว่า “แคมเปญใหม่ล่าสุดนี้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างต่อเนื่องของทีเส็บในการส่งเสริมการจัดงานอย่างยั่งยืน ตอกย้ำบทบาทความเป็นผู้นำทางความคิดภายใต้แบรนด์ Thailand Redefine Your Business Events ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืน มุ่งมั่นปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนอย่างจริงจัง ผลักดันผู้ประกอบการให้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง พัฒนาเครื่องมือและโปรแกรมการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างยั่งยืน”

แคมเปญ ‘Meet Sustainable’ ได้รับแนวคิดมาจากจุดยืนอันแน่วแน่ของทีเส็บที่ต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องความยั่งยืนมากว่าสิบปี สำหรับโครงการหลักๆ ที่ผ่านมาของทีเส็บซึ่งเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนนั้นได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความยั่งยืนของมาตรฐานวัดคุณภาพองค์กรต่างๆ (International Organization for Standardization : ISO) 7 มาตรฐาน โดยมีสถานที่จัดงานด้านไมซ์นำเอามาตรฐานเหล่านี้ไปใช้แล้วจำนวน 33 แห่ง แบ่งเป็น ISO 22000 มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหารจำนวน 7 แห่ง ISO 50001 มาตรฐานระบบการบริหารจัดการพลังงาน จำนวน 4 แห่ง ISO 20121 มาตรฐานระบบการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืน จำนวน 15 แห่ง ISO 22301 มาตรฐานระบบการบริหารจัดการความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ จำนวน 1 แห่ง ISO 9001 มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ จำนวน 15 แห่ง ISO 14001 มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 แห่ง และ ISO 22300 มาตรฐานระบบความปลอดภัยการจัดการประชุม สัมมนา นิทรรศการ จำนวน 6 แห่ง

นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการที่นำโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนมาใช้อีกด้วย ได้แก่ โครงการ Food Waste Prevention จำนวน 8 แห่ง และโครงการ Farm to Functions หรือการส่งเสริมผู้ประกอบการไมซ์ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากผู้ประกอบการโดยตรง จำนวน 20 ราย

“โครงการ Food Waste Prevention สามารถช่วยลดปริมาณขยะจากการให้บริการอาหารเป็นจำนวนถึง 155,000 กิโลกรัม ระหว่างปี 2561 ถึงเดือนมิถุนายน 2562 ในขณะที่โครงการ Farm to Functions ได้มีการซื้อข้าวอินทรีย์โดยตรงจากเกษตรกรจำนวน 300 ตัน ทำให้เกิดรายได้ 12 ล้านบาท หมุนเวียนในครอบครัวของเกษตรกรจำนวน 500 ครัวเรือน” นางนิชาภากล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ รอง ผอ.ทีเส็บ สายงานธุรกิจ ยังกล่าวอีกว่า ช่วงที่ผ่านมา กรุงเทพฯ คว้าอันดับ 2 ในเอเชีย จากการประกวดเมืองพัฒนาไมซ์อย่างยั่งยืน The Global Destination Sustainability Index (GDS Index) 2018 โดยคณะกรรมการ พิจารณาประกอบด้วยคะแนน จากด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ผู้ประกอบการ และองค์กรส่งเสริมการประชุม ซึ่งพบว่าคะแนนของทีเส็บสูงสุดในบรรดาเมืองของเอเชียที่เข้าร่วมประกวด เป็นรองแค่ โตเกียว (ญี่ปุ่น) เพียงแค่ 2 คะแนน ซึ่งในอนาคต เชื่อว่ากรุงเทพสามารถแซงได้

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานด้านความยั่งยืนทั้ง 7 ประการนี้ เป็นแนวคิดที่ทีเส็บนำมาเป็นหัวใจสำคัญของแคมเปญ ‘Meet Sustainable’ ซึ่งงานในภาคการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลที่จัดขึ้นจะต้องปฏิบัติตามแนวทางการจัดงานอย่างยั่งยืนอย่างน้อย 2 ประการ จึงจะมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การเข้ารับเงินสนับสนุน และเตรียมความพร้อมสำหรับผู้เข้าร่วมงาน พันธมิตรธุรกิจ และผู้ให้บริการ ให้สามารถเข้าร่วมกิจกรรมด้านความยั่งยืนได้เป็นระยะๆ ตั้งแต่การเตรียมงาน ระหว่างงาน และหลังจบงาน


ระหว่างการเตรียมงาน ผู้จัดงานจะต้องประชาสัมพันธ์งานผ่านสื่อดิจิทัลและออนไลน์เท่านั้น เพื่อลดปริมาณการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าร่วมงานและพันธมิตรทราบวัตถุประสงค์การจัดงานอย่างยั่งยืน เพื่อการตรียมตัวสำหรับการเข้าร่วมงาน ระหว่างงาน ผู้จัดงานจะต้องใช้เหยือกหรือขวดแก้วขวดใหญ่ในการให้บริการน้ำดื่มแก่ผู้ที่เข้าร่วมงาน จัดเตรียมกระบอกน้ำที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานนำไปเติมน้ำดื่ม ไม่ใช้หลอดพลาสติก และบริจาคอาหารส่วนเหลือให้แก่องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร สถานที่ที่ใช้จัดงานจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน อุปกรณ์ที่ใช้ตกแต่งสถานที่จะต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และไม่มีการใช้ดอกไม้สดหรือวัสดุโฟมพลาสติก ของที่ระลึกที่แจกภายในงานจะต้องผลิตโดยชุมชนในท้องถิ่นหรือทำมาจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผู้จัดงานจะต้องนำเอาระบบลงทะเบียนแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ และใช้ป้ายชื่อที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ หลังจบงาน ผู้จัดงานจะต้องประชาสัมพันธ์ผลการจัดงาน ความสำเร็จและข้อดีของการจัดงานที่สอดคล้องตามแนวคิดความยั่งยืนต่อสาธารณะและบุคคลที่เกี่ยวข้อง