เปิดขั้นตอนฎีกา “สรยุทธ” ถึงศาลฎีกา เชื่อ 1 ปีได้อ่านคำพิพากษา กางเงื่อนไขประกันตัว

เมื่อวันที่ 13 กันยายน แหล่งข่าวนักกฎหมายอธิบายข้อกฎหมายและวิธีปฏิบัติของศาลยุติธรรมสำหรับขั้นตอนหลังจากการยื่นฎีกาในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อายุ 51 ปี อดีตพิธีกรรายการข่าวชื่อดัง และ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช อายุ 45 ปี พนักงาน บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 4 และนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด พนักงานจัดทำคิวโฆษณา ปฏิบัติหน้าที่มิชอบที่ไม่รายงานการโฆษณาเกินจริงกระทั่งทำให้ อสมท เสียหาย ไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า

หลังจากที่จำเลยทั้งหมดยื่นฎีกาแล้ว ศาลก็จะต้องส่งฎีกาให้โจทก์แก้ฎีกาภายใน 1 เดือนนับจากวันได้รับสำเนาฎีกา ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ศาลจะต้องออกหมายแจ้งโจทก์พร้อมสำเนาฎีกาให้โจทก์เพื่อที่จะแก้ฎีกา ซึ่งศาลเองก็จะต้องดูว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งยังไม่ได้ยื่นฎีกาขอขยายระยะเวลาฎีกาด้วยหรือไม่ ถ้ามีการขอขยายและยื่นฎีกา ศาลก็จะต้องสำเนาฎีกานางพิชชาภาจำเลยที่ 1 ไปให้โจทก์แก้เช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะรวบรวมฎีกาและคำแก้ฎีกาทั้งโจทก์และจำเลยส่งศาลฎีกาได้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน

“การที่นายสรยุทธจำเลยจะยื่นแก้ไขฎีกาจะทำได้ สองทาง คือ ขอแก้ภายในกำหนด 1 เดือน และขอขยายวันยื่นหรือแก้ฎีกาก็สามารถทำได้ ในส่วนของนางพิชชาภาจำเลยที่ยังไม่ยื่นก็มีสิทธิขอแก้หรือขยายระยะเวลาไปได้อีก 1-2 ครั้ง ซึ่งศาลก็คงให้อยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ ตรงนี้นางพิชชาภาก็สามารถยื่นฎีกาเพื่อขอให้มีการรับรองฎีกาซะก่อน เพื่อที่จะได้สิทธิในการยื่นประกันได้เช่นกัน จากนั้นค่อยมาขอแก้ไขฎีกาเพื่อให้สมบูรณ์ได้อีก จริงๆ ถ้าจำเลยที่ 1 มีคนแนะนำก็อาจจะยื่นฎีกามาก่อนเพื่อให้มีการรับรองฎีกา แล้วถึงค่อยแก้ฎีกาทีหลังได้ แต่สำหรับคดีนี้อาจจะช้าเนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ยื่นฎีกาเลย” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับคดีนี้หลังจากที่ทุกฝ่ายแก้ฎีกาหมดแล้วนั้น ศาลชั้นต้นก็จะส่งฎีกาและคำแก้ฎีกาไปที่ศาลฎีกา ซึ่งถ้าเป็นการฎีกาแค่เพียงขอให้รอการลงโทษก็จะถือว่าเป็นคดีเร่งพิเศษของศาลสูง ซึ่งจะทำคำพิพากษาเร็วเพราะจะใช้ดุลพินิจว่าจะรอลงอาญาหรือไม่เท่านั้น แต่หากว่าในฎีกามีการขอในเนื้อหาคดีด้วยว่าได้กระทำผิดหรือไม่ ตรงนี้ศาลจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี

“ในศาลฎีกาจะมีองค์คณะอยู่แล้ว ซึ่งผู้บริหารศาลฎีกาจะสั่งจ่ายสำนวนไปยังองค์คณะผู้พิพากษา 3 คนเพื่อทำคำพิพากษา ซึ่งการทำคำพิพากษาในศาลฎีกานั้นจะมีกองผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ ทั้งกองผู้ช่วยเล็กและกองผู้ช่วยใหญ่ตรวจคำพิพากษาก่อนที่จะส่งคำพิพากษาให้รองประธานศาลฎีกาตรวจอีกที ก่อนที่จะอนุมัติผลคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นอ่านมีประมาณ 3-4 ขั้นตอน ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีหลังจากศาลฎีกาได้รับฎีกา” แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวยังระบุอีกว่า หลังจากนี้นายสรยุทธจะต้องมารายงานตัวตามเงื่อนไขทุก 3 เดือน หากไม่มารายงานตัวตามกำหนด จะถือว่าผิดเงื่อนไข ศาลจะสั่งถอนประกันและออกหมายจับ ปรับนายประกัน

สำหรับเงื่อนไขเรื่องการห้ามออกนอกประเทศนั้น ศาลได้แจ้งจำเลยตั้งแต่วันแรกที่ได้ประกันตัว ซึ่งจะมีการส่งคำสั่งไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตัวจำเลยจะไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ยกเว้นได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งตั้งแต่การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมานายสรยุทธยังไม่เคยยื่นคำร้องขอออกนอกประเทศอย่างเป็นทางการมาก่อน ซึ่งก็ถือว่านายสรยุทธปฏิบัติตามเงื่อนไขมาโดยตลอด

 

ที่มา : มติชนออนไลน์