เปิดตำรับยามี “โกฐกระดูก” ที่ถูกห้ามนำเข้าเนเธอร์แลนด์ หลัง “ยาหอม5 เจดีย์” นำเข้าไม่ได้

จากกรณีกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ เผยแพร่ข้อมูลว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์ ห้ามนำเข้าประเทศ เนื่องจากมีส่วนผสมของ “โกฐกระดูก” ซึ่งเป็นพืชบัญชีที่ 1 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส)

เมื่อวันที่ 14 กันยายน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เรื่องสมุนไพรไทยถือเป็นนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรคขึ้น ทางภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย ซึ่งกรณีสมุนไพรโกฐกระดูก ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงผู้ประกอบการด้วย ซึ่งคงต้องรอว่า ผลการประชุมจะออกมาเป็นเช่นไร มีแนวทางการช่วยเหลืออย่างไร โดยเฉพาะเรื่องระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ เนื่องจากสูตรในการทำยาหอมดังกล่าวก็มีมาตั้งแต่โบราณ ก็คงต้องหาแนวทางช่วยเหลือก่อนดีกว่าที่จะต้องไปเปลี่ยนสูตร ทั้งนี้ โกฐกระดูกส่วนใหญ่มักจะเป็นวัตถุดิบในการทำตำรับยาหอม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสรรพคุณของสมุนไพร “โกฐกระดูก” นั้น ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า โกฐกระดูกมีชื่ออื่นว่า บักเฮียง (จีนแต้จิ๋ว) และ มู่เชียง (จีนกลาง) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Aucklandia lappa DC. ลักษณะภายนอกจะเป็น รากสีเทาถึงสีน้ำตาล ลักษณะแข็ง รูปทรงกระสวย หรือรูปทรงกระบอก คล้ายกระดูก ขนาดความยาว 5-10 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-5 เซนติเมตร ผิวนอกสีน้ำตาลอมเหลืองถึงสีน้ำตาลอมเทา มีรอยย่นชัดเจน มีร่องตามยาว ผิวนอกมีร่องไขว้ไปมาคล้ายร่างแห ด้านข้างมีรอยแผลเป็นรากแขนง เนื้อแข็ง หักยาก รอยหักสีน้ำตาลอมเทาถึงสีน้ำตาลเข้ม พบรากแขนงได้บ้างเล็กน้อย เมื่อผ่าตามแนวขวาง เนื้อรากจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนนอกที่บางกว่า และส่วนในซึ่งเป็นเนื้อรากจะมีสีจางกว่า วงแคมเบียมสีน้ำตาล และมีลายเส้นตามแนวรัศมี เนื้อตรงกลางจะยุบตัวลง มีรูพรุน ตำราสรรพคุณยาโบราณของไทยว่าโกฐกระดูกมีรสขม หวาน มัน ระคนกัน มีกลิ่นหอมเฉพาะ ตำรายาโบราณบางเล่มเรียกว่า “โกฐหอม” เพราะมีกลิ่นหอมชวนดม

สรรพคุณพบว่า รากแก้เสมหะและลม แก้หืด หอบ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น บำรุงกระดูก แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย แก้ปวด ตำรายาไทยใช้ปรุงเป็นยาหอมรับประทานแก้ลมวิงเวียนหน้ามืดตาลายขับลมในลำไส้ แก้โรคโลหิตจาง ทั้งนี้ ตำรายาไทย มีการนำโกฐกระดูกมาใช้ในหลายตำรับ เช่น “พิกัดตรีทิพย์รส” คือการจำกัดจำนวนของที่มีรสดี 3 อย่าง คือโกฐกระดูก เนื้อไม้ และอบเชยไทย มีสรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงโลหิต “พิกัดสัตตะปะระเมหะ” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้เสมหะมีกลิ่น 7 อย่าง คือ ต้นตำแยทั้ง 2 ต้นก้นปิด ลูกกระวาน ผลรักเทศ ตรีผลาวะสัง และโกฐกระดูก มีสรรพคุณชำระมลทินโทษให้ตกไป แก้อุจจาระธาตุลามก ชำระเมือกมันในลำไส้

นอกจากนี้ บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้โกฐกระดูกในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย รวม 2 ตำรับ คือ 1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐกระดูกอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง และ 2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของโกฐกระดูกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ

ทั้งนี้ โกฐกระดูกเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ เป็นพืชเฉพาะถิ่นในที่ชื้นทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ปัจจุบันปลูกมากที่อินเดีย เนปาล ภูฎาน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ไทยสั่งนำเข้ามาจากอินเดียและจีน และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โกฐกระดูก จัดอยู่ใน โกฐทั้งเจ็ด(สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า (เนาวโกฐ) โดยเครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) “พิกัดโกฐทั้ง 9” (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก

 

ที่มา มติชนออนไลน์