ตั้งรับน้ำท่วมปักษ์ใต้ กรมชลประทานชงโปรเจ็กต์ ตามแนวพระราชดำริ

โครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ

ทุกฤดูฝน-ทุกปี ภาคใต้ไม่เคยหนีพ้นปัญหาน้ำท่วม

ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผชิญปัญหาแบบ “ตั้งรับ” นับทศวรรษ

แต่อาฟเตอร์ช็อกของ “อุทกภัย” ทุกปี-ทิ้งซากความเสียหายสะเทือนเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตประชาชน

ในปีนี้ “ประพิศ จันทร์มา” รองอธิบดีกรมชลประทาน ใช้แนวทางพระราชดำริ วางแผนทั้งเชิงรุก-รับ และสะสางปัญหาสะสม หยิบแผนงานที่ค้างคามา 10 ปี บรรจุไว้ในแผนระดับชาติ

ประพิศ จันทร์มา

“เราได้วางโครงการสำหรับบริหารจัดการน้ำและโครงการบรรเทาอุทกภัยไว้ในหลายจังหวัดและผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งได้บรรจุไว้ทั้งในแผนระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาวของ กนช. เช่นโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์”

นอกจากนี้ในภาคใต้ตอนล่าง-ถึงตอนบน ยังมีโครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ระยะที่ 2 โครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง โครงการบรรเทาอุทกภัยนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จ.สุราษฏร์ธานี โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร จ.ชุมพร โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง

“ขณะนี้หลายโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง หลายโครงการจะแล้วเสร็จปี 2563 และ 2565 ตามลำดับ ทั้งหมดมีการติดตามความคืบหน้าต่อเนื่องและในช่วงฤดูฝน ภายใต้นโยบายที่ขีดเส้นใต้ไว้ว่า ในปีหน้า ทุกโครงการจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ในกรณีที่เกิดอุทกภัยขึ้น โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ แม้จะยังไม่เสร็จ แต่ต้องมีบทบาทในการบริหารน้ำเพื่อลดอุทกภัยได้”

โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน

สำหรับความคืบหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อบรรเทาอุทกภัยของเมืองการก่อสร้างคลองผันน้ำคลองบางสะพาน ขณะนี้ภาพรวมการจัดการระบบลุ่มน้ำ มีการปรับปรุงขุดคลองและขุดขยายคลองบางสะพาน คลองผันน้ำฝั่งขวา (คลองปัตตามัง-เขามาร้อง) คลองผันน้ำฝั่งซ้าย (คลองแม่รำพึง) เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเล มีการก่อสร้างอาคารควบคุมบังคับน้ำและอาคารประกอบต่างๆ รวมทั้งก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งน้ำในตอนบนของลุ่มน้ำโครงการระหว่างปี 2563-2564

“เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ จะลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณ 5,000 ไร่ ช่วยระบายน้ำได้ 1,025 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที และเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 30 ล้านลบ.ม.“

โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเร่งรัดอีกแห่ง คือโครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ระยะที่ 2 มีโครงการปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 ทั้งนี้ ได้มีการสั่งการให้เร่งขุดรื้อย้ายคันดิน ซึ่งเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำที่อยู่บริเวณด้านหน้าประตูระบายน้ำบางหยีออกเพื่อช่วยในการระบายน้ำ

โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี

ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรี นับเป็น 1 ในจังหวัดที่มีน้ำท่วมซ้ำซากต่อเนื่อง กรมชลประทานจึงได้บรรจุ “โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง” ไว้ในแผนของ กนช.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ผ่านคลองส่งน้ำสายใหญ่ และคลองระบายน้ำ เพื่อตัดยอดน้ำไม่ให้ผ่านเข้าเมืองเกิน 150 ลบ.ม.ต่อวินาที

นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี เปิดเผยว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 3 และคลองระบาย D9 พร้อมอาคารประกอบ วงเงินรวม 1,100 ล้านบาท กำหนดเสร็จปี 2563 ปัจจุบันก่อสร้างแล้ว 80% ซึ่งจะตัดยอดน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานที่ไหลลงมาเขื่อนเพชรบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ

โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่

นอกจากนี้ กนช.ยังได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ในโครงการเพิ่มศักยภาพคลอง D1 ให้มีศักยภาพในการระบายน้ำจาก 70 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 550 ลบ.ม.ต่อวินาที ระบายน้ำไปออกทะเลในสองทางคือ ที่คลองยกระดับน้ำของบริษัทชลประทานซีเมนต์ และอีกจุดที่ ต.บางเก่า อ.ชะอำ ขณะนี้ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว คาดว่าจะสำรวจออกแบบแล้วเสร็จในปีหน้า และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป