คนไทยเสี่ยงโรคหัวใจ-หลอดเลือดเพิ่มขึ้น แพทย์แนะเพิ่มยานวัตกรรมใหม่ลด ‘ตาย-อัมพาต’

แพทย์เผยคนไทยเสี่ยงป่วยโรคหัวใจเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยหลักจากการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่-เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่สถานพยาบาลยังใช้วิธีรักษาแบบเดิม แนะศึกษาผลการรักษาด้วยนวัตกรรมยาใหม่ เพื่อวางระบบใช้งบประมาณดูแลผู้ป่วยอย่างคุ้มค่า เปิดกว้างบัตรทองเข้าถึงยาโรคหัวใจนอกบัญชียาหลักที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าได้ แต่ให้คนไข้ร่วมจ่ายเพื่อไม่กระทบภาพรวม

นพ.วศิน พุทธารี หัวหน้าห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยในงานเสวนาหัวใจสุขภาพดี สูงวัยอย่างแข็งแรง(Healthy Hearts, Healthy Aging) ซึ่งจัดโดยบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปัจจุบันที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย สอดคล้องกับข้อมูลในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ที่พบว่าโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็น ‘โรคไม่ติดต่อ’ (NCDs) ที่นำไปสู่การเสียชีวิตสูงสุด 5 อันดับแรกของคนไทยและผู้ป่วยอีกมากต้องทุพพลภาพ

ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ พบมากในกลุ่มของผู้สูงอายุขณะนี้ โดยถ้าพิจารณาจากสถิติในปี 2561จะพบผู้ป่วยสองโรคนี้ในประเทศไทยมีอยู่ราว 4 แสนคน อัตราการเสียชีวิต 2 หมื่นคนต่อปี หรือทุกๆ 1 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิต 1-2 คน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือจะมีลิ่มเลือดในหัวใจไปอุดตันเส้นเลือดในสมอง นำไปสู่ภาวะสมองขาดเลือด สุดท้ายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต นอนติดเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ส่วนโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น ถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะหลอดหัวใจขาดเลือดรุนแรง ก็จะนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ทำให้เสียชีวิตได้ในทันที

นพ.วศิน กล่าวด้วยว่า เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทุกภาคส่วนที่มีหน้าที่ดูแลระบบสาธารณสุข จำเป็นต้องตระหนักว่าหากไม่ให้ความสำคัญเรื่องการรักษาดีพอ เราอาจมีผู้ป่วยทุพพลภาพเป็นภาระครอบครัวและสังคมจำนวนมาก แนวทางการรักษาสองโรคนี้ นอกจากจะให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องแล้ว ต้องใช้ยาที่เหมาะสมด้วย ซึ่งประเทศไทยยังขาดข้อมูลที่สะท้อนว่ายาแบบเก่าที่ใช้กับคนไข้ในปัจจุบัน ได้ผลการรักษาเป็นอย่างไร เมื่อเทียบการรักษาและยารูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่า ดังเช่นในต่างประเทศพบอัตราการเสียชีวิตน้อยลงจากการใช้นวัตกรรมยาและการรักษาแบบใหม่

แม้ยานวัตกรรมจะมีราคาสูงจริง แต่เมื่อมาหักลบกับค่ารักษากรณีคนไข้มีภาวะแทรกซ้อนหรือเกิดทุพพลภาพภายหลังซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดูแลที่สูงเช่นกัน เมื่อคำนวณแล้วคุ้มค่าหรือไม่ และในการเบิกจ่ายค่ารักษาของทุกกองทุนด้านสุขภาพนั้น เมื่อเริ่มต้นโครงการก็มีแนวคิดที่ว่ารัฐจะช่วยเหลือทุกคน ดังนั้นถ้าจะเปิดช่องให้ผู้ป่วยได้ร่วมจ่ายบ้างในยาที่สูงขึ้นบางประเภท ก็น่าจะเป็นวิธีที่แบ่งเบาภาระของภาครัฐได้

ขณะที่ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ อาจารย์แพทย์ ศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ก่อให้เกิดผลกระทบกับตัวผู้ป่วยและคนรอบข้าง ผลกระทบต่อตัวเองคือสุขภาพกายใจ ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลกระทบคนรอบข้างคือ บ้านไหนมีผู้ป่วยโรคนี้ ระดับความตึงเครียดในครอบครัวจะสูง เพราะชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบ รายได้ลดลง ส่วนกระทบต่อประเทศและสังคมคืองบประมาณในการดูแลมาก ส่วนค่าใช้จ่ายรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ย 6 หมื่นบาทต่อครั้งต่อคน

แม้ทุกวันนี้เราจะตระหนักถึงภัยของโรคร้ายมากแค่ไหน แต่จำนวนผู้ป่วยก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดจากพฤติกรรมความเป็นอยู่ ขาดการออกกำลังกาย ความเครียดในชีวิตประจำวันและการรับประทานอาหาร หากดูจากสถิติการรับผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรงเข้ารับการรักษาในปี 2560 พบว่ามีจำนวน 8.4 หมื่นครั้ง เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2556 ร้อยละ 25 ส่วนโรคสมองขาดเลือดพบว่ามีจำนวน 2.6 หมื่นครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ถือเป็นตัวเลขที่น่าตระหนก ประกอบกับอายุประชากรในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก

ปัจจุบันยาชนิดใหม่และการรักษาใหม่ๆเกิดตลอด แม้ราคาสูงใช้งบประมาณมาก แต่หากผลวิจัยออกมาว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าและปลอดภัยกว่า ก็ควรต้องคำนึงถึงการให้ผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษาตามมาตรฐานสากล อาทิ กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานที่ไม่ได้ออกฤทธิ์ต้านวิตามินเค (NOAC) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีโรคอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย แต่จากสถิติผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้วกว่า 3,000 ราย พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงยาดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องมีการนำเสนอข้อมูลในเรื่องต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่ายาแบบเก่ามีความเสี่ยงต่อการเลือดออกในสมองมากกว่ายานวัตกรรมใหม่ และประชากรประเทศแถบเอเชียมีโอกาสเป็นโรคเลือดออกในสมอง มากกว่าคนในแถบยุโรปและอเมริกา การเลือกใช้ยาที่มีความปลอดภัยสูงจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

สำหรับงานเสวนาครั้งนี้ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เพื่อส่งเสริมความรู้ทางสุขภาพและส่งสัญญาณเตือนถึงสถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย และยังนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยตามรายงาน Healthy Hearts,Healthy Aging ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดทำโดยไบเออร์ และ NUS Enterprise หน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์อีกด้วย