รองนายกฯตั้งโต๊ะแถลง ขยายสิทธิคุณแม่ลาคลอดได้ 6 เดือน คาดประกาศใช้ มี.ค.ปี’61

รองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ถกสุขภาพแห่งชาติ เผย มี.ค.61 ประกาศให้คุณแม่ลาคลอดได้ 6 เดือน เตรียมตั้งเจ้าหน้าที่คุมเข้มโฆษณาอาหารทารก พบผิดดำเนินการทันที

เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 5/2560 โดยที่ประชุมรับทราบข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมการลงทุนสาธารณสุขเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งด้านแพทย์แผนไทย ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง สถานพยาบาล การลำเรียงขนส่งทางการแพทย์ รับทราบการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบสุขภาพของประเทศ พร้อมรับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็นการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พร้อมมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นการกำกับและบังคับใช้กฎหมาย ในเรื่องการส่งเสริมการให้นมแม่ในสังคมไทย รวมถึงการหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเด็นการขยายสิทธิการลาคลอดเป็น 180 วัน หรือ 6 เดือน

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กนั้น รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเริมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และมีผลประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา มีสาระสำคัญคือ 1.ห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์อาหารทารกและเด็กเล็ก ทั้งทางทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ นิตยสาร หรือ สื่อออนไลน์ แต่ไม่ได้ห้ามขาย 2.ห้ามแจกตัวอย่างสินค้าและของขวัญฟรีแก่แม่ทั้งทางตรงและทางอ้อม 3.ห้ามพนักงานการตลาดติดต่อหญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัว 4.ห้ามใช้สถานบริการสาธารณสุขเป็นที่สาธิต โฆษณา ประชาสัมพันธ์ สินค้า 5.ห้ามให้ของขวัญหรือตัวอย่างสินค้าแก่บุคลากรสาธารณสุข 6.การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการอาหารทารก ต้องได้รับอนุญาตจากกรมอนามัย เพื่อป้องกันการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ข้อมูลในเชิงโฆษณา 7.ข้อมูลที่ให้แก่บุคลากรสาธารณสุขต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และเป็นจริง และฉลาก ต้องไม่แสดงรูปภาพของทารกหรือข้อความชักจูงให้เกิดความเข้าใจผิด

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า หลังจากกฎหมายประกาศใช้แล้ว ได้รับการชี้แจงจากทางคณะกรรมการอาการและยา (อย.) ว่ายังพบการลักลอบโฆษณาอยู่ อย่างไรก็ตามจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างกรมอนามัยกับ อย. ในวันที่ 18 กันยายนนี้ เพื่อวางแนวทางระบบและกระบวนการรองรับ โดยเฉพาะการตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกระดับทั้งระดับเขต จังหวัด และอำเภอ เพื่อเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมาย รวมถึงเปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งขึ้นจะมีอำนาจในการนำเสนอบทลงโทษได้ทันที

“ส่วนการลาคลอดนั้น เราส่งเสริมคุณแม่ควรจะให้นมลูกอย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือน แล้วหลังจากนั้นอาจจะมีอาหารเข้ามาเสริมได้บ้าง แต่ที่ผ่านมาเรามีกฎหมายอนุญาตให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อนุญาตให้คุณแม่ลาคลอดได้จำนวน 90 วัน ดังนั้น รัฐควรออกกฎหมาย โดยอาจอนุญาตให้คุณแม่สามารถลาคลอดได้ 180 วัน หรือ 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยจะมีการรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าจะออกประกาศได้ภายในเดือนมีนาคม 2561” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์