จากอิทธิพลของพายุ “ทกซูรี” ที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดฝนตกหนักทั้ง 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน เป็นต้นมา ซึ่งปริมาณฝนที่ตกหนักในพื้นที่ อ.ห้วยผึ้ง มากถึง 235 มิลลิเมตร และพื้นที่ติดแนวเขตเทือกเขาภูพานอย่าง อ.สมเด็จ, อ.เขาวง, อ.นาคู, อ.นามน และ อ.สหัสขันธ์ ปริมาณฝนวัดได้มากถึง 100-180 มิลลิเมตร
ทำให้เกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือนราษฎรหลายหมู่บ้าน ทั้งยังส่งผลให้ถนนหลายสายขาดพังจนต้องปิดการจราจร โดยนายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนเร่งสำรวจความเสียหายจากพายุทกซูรี เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ปัญหาพื้นที่น้ำท่วม 5 อำเภอคือ อ.เมืองกาฬสินธุ์, อ.กมลาไสย, อ.ยางตลาด, อ.ร่องคำ และ อ.ฆ้องชัย ยังไม่ได้รับผลกระทบซ้ำจากพายุทกซูรี และสถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ จุดวิกฤติที่ได้รับผลกระทบจากพายุทกซูรี บริเวณถนนบ้านหนองอีบุตร เส้นทาง อำเภอนามน-อำเภอหวยผึ้ง กระแสน้ำป่าเชี่ยวกราก และมีปริมาณมากได้พัดคอสะพานเชื่อมต่อถนนขาดจนไม่สามารถใช้การได้ โดย กกล.รส.กาฬสินธุ์ ได้นำกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดกาฬสินธุ์บูรณาการร่วมกับ จังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าตรวจสอบ และดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ กองพลทหารม้าที่ 3/กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดชุดบรรเทาสาธารณภัย และประสานกับ กองพลทหารราบที่ 6 โดยกองพันทหารช่างที่ 6 ขอรับการสนับสนุนรถสะพานเครื่องหนุนมั่น (MFB) สามารถใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้ปกติ
ขณะที่บริเวณถนนระหว่างอำเภอนามน-จ.กาฬสินธุ์ ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ ได้เข้าอำนวยการในการติดตั้งสะพานเชื่อมเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เส้นทางสัญจรชั่วคราวก่อน ซึ่งแขวงการทาง จ.กาฬสินธุ์ ทางหลวงชนบท ได้ประสานของสะพานแบริ่ง จากศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 2 ขอนแก่น กรมทางหลวงชนบท มาติดตั้งที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดเส้นทางใช้ได้ในเวลา 15.00 น.วันนี้
อีกทั้งมีรายงานเพิ่มเติมว่าในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ ที่มีฝนตกหนัก น้ำป่าได้ไหลหลากเข้าท่วมโรงเรียนบ้านสิงห์สะอาด ที่อยู่ติดกับเขาภูสิงห์ และภูค่าว ระดับน้ำสูงถึง 30-40 เซนติเมตร แต่ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และทางโรงเรียนฯ กำลังสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยผึ้ง เกิดหลุ่มขนาดใหญ่บริเวณสันอ่างเก็บน้ำ
นายไพโรจน์ จิตจักร นายอำเภอห้วยผึ้ง นำกำลังกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านนำดินทรายมาอุดหลุมดังกล่าวร่วมกับทางชลประทาน จ.กาฬสินธุ์ และจัดเวรยามเฝ้าระวังในระยะนี้อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม นางเนตรชนก คำดี นายกเหล่ากาชาด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะกรรมการเหล่ากาชาด จ.กาฬสินธุ์ ได้นำถุงยังชีพข่าวสารอาหารแห้ง ออกเยี่ยมและมอบให้กับประชาชนที่ประสบภัย เพื่อเป็นการปลอบขวัญผู้ประสบภัย โดยกระจายกำลังออกพื้นที่ทั้ง 18 อำเภอ ในทันที
ด้านนางกิ่งแก้ว ธารศรี อายุ 50 ปี ชาวบ้านสวนป่า กล่าวว่า ไม่เคยเห็นน้ำป่าลักษณะแบบนี้มาก่อน ทั้งกระแสน้ำที่รุนแรง ปริมาณน้ำมาก ยังรู้สึกหวาดกลัวเมื่อยังมีฝนตกอยู่เกรงว่าจะเกิดขึ้นอีก ลอยคออยู่ในน้ำกับหลาน 2 คนกว่า 3 ชั่วโมง โชคดีที่ไม่เป็นอะไร น้ำเข้าบ้านเสียหาย บ้านก็พัง เครื่องใช้ไฟฟ้าจมน้ำเสียหายหมด ส่วนการขอความช่วยเหลือก็รอคอยทางภาครัฐเท่านั้น ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรตอนนี้
ส่วนพื้นที่ อ.นาคู ยังได้รับผลกระทบหนักถือเป็นอีกแห่งที่วิกฤติน้ำป่าได้ไหลหลากท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นท่าการเกษตรเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ทั้ง ต.ภูแล่นช้าง, ต.สายนาวัง และ ต.โนนนาจาน พื้นที่นาข้าวที่ปักดำเสียหายซ้ำเป็นรอบที่ 3 จากน้ำป่าในลักษณะเดียวกัน รวมทั้งถนนหมายเลข 2101 ภูแล่นช้าง-บ้านโนนศรีวิลัย น้ำท่วมขังสูง การสัญจรไปมาลำบาก และมีบ้านเรือนที่ยังถูกน้ำท่วมขังอยู่อีกเกือบ 10 หลังคาเรือน
ที่มา มติชนออนไลน์