ผู้นำเข้าบุหรี่-นักวิชาการติงแบ่งขั้นคิดภาษีสรรพสามิตไม่เป็นธรรม-ขัดหลักการค้าโลก หวั่นของถูกครองตลาด

นายเจอรัลด์ มาร์โกลีส กรรมการผู้จัดการใหญ่ของฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด บุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และแอล แอนด์ เอ็ม กล่าวว่า ตลาดบุหรี่ในไทยต้องเผชิญกับการดิ่งลงไปหาบุหรี่ราคาถูกอย่างรวดเร็วมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เนื่องจากอัตราภาษีและโครงสร้างการจัดเก็บก่อนหน้านี้ที่เป็นปัญหา และล่าสุด บุหรี่ราคาถูก ต่ำกว่า 60 บาทต่อซอง มีสัดส่วนเกินกว่า 55% ของบุหรี่ทั้งหมด ซึ่งส่งผลทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังไม่สามารถควบคุมอัตราการสูบบุหรี่ได้ด้วย โดยมองว่าอัตราภาษียาสูบใหม่ที่ประกาศออกมานั้นยังสามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้อีกเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล

นายเจอรัลด์กล่าวต่อว่า ระบบภาษีใหม่แบ่งการเก็บภาษีขามูลค่าเป็นสองชั้น โดยลดอัตราภาษีตามมูลค่าของบุหรี่ที่มีราคาต่ำกว่า 60 บาทลงถึงครึ่งหนึ่ง (50%) โครงสร้างภาษีที่เป็นสองชั้นเช่นนี้ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันไปหาสินค้าที่มีราคาถูกเพราะระบบภาษีใหม่นี้ก่อให้เกิดแรงจูงใจให้ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าหันมาผลิตสินค้าราคาถูก ท้ายที่สุดแล้วก็อาจเป็นการกระตุ้นการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน

ด้านนางมัลลิกา ภูมิวาร ที่ปรึกษาภาคเอกชนจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่เสียภาษีสรรพสามิตและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีศุลกากรและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอนซัตติ้ง จำกัด กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างอัตราภาษีที่ประกาศออกมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีพอใช้ เพราะยังมีหลักเกณฑ์เรื่องความซับซ้อนที่มีการแบ่งขั้นอัตราภาษี (เทียร์) อยู่ การที่ระบบภาษียังคงซับซ้อนอยู่เช่นนี้ ถือว่ายังไปไม่ถึงมาตรฐานสากลของระบบภาษีที่ดีที่ต้องมีโครงสร้างเรียบง่าย และที่น่าเป็นห่วงคือจะจูงใจให้เกิดการเลี่ยงภาษีด้วยการปรับลดราคาหรือปริมาณตามขั้นอัตราภาษี เรียกได้ว่าระบบใหม่ยังคงมีช่องโหว่ ซึ่งรัฐควรต้องหาทางอุดกันต่อในอนาคตด้วยการยกเลิกระบบขั้นอัตราภาษีแล้วหันมาเก็บภาษีในอัตราเดียว อย่างในกรณีภาษีบุหรี่ที่กระทรวงการคลังกำหนดให้จะต้องยุบขั้นอัตราภาษีเหลือเพียงอัตราเดียวภายใน 2 ปี เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมยาสูบเลี่ยงภาษีได้ด้วยการลดราคาให้เข้าขั้นอัตราภาษีต่ำ เป็นต้น

ด้าน รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาพรวมสินค้าส่วนใหญ่มีภาระภาษีคงเดิม เพียงแค่ปรับลดอัตราภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับฐานภาษีใหม่ที่เปลี่ยนมาใช้ราคาขายปลีกแนะนำ แต่ที่น่าสนใจคือ ภาษีบาปที่มีการนำอัตราภาษีตามปริมาณมาใช้กับยาสูบเพื่อแก้ไขปัญหาบุหรี่ราคาถูกที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา และการเพิ่มอัตราภาษีตามปริมาณของแอลกอฮอล์ในโครงสร้างภาษีสุราเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการเก็บภาษีสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ดี ก็ขอชื่นชมรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนในการกำหนดโครงสร้างภาษีบาปครั้งนี้

“โครงสร้างภาษีที่ซับซ้อนจากการกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกันตามราคาของสินค้าในกรณีของไวน์และบุหรี่ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล และอาจขัดต่อหลักองค์การการค้าโลก (WTO) แม้ตัวกฎหมายอาจไม่ได้มีการกำหนดว่าสินค้านำเข้าต้องเสียภาษีในอัตราที่ต่างจากสินค้าผลิตในประเทศ แต่ในทางปฏิบัติ หลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจสร้างความได้เปรียบให้แก่สินค้าผลิตในประเทศ” รศ.ดร.อรรถกฤตกล่าว

รศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวต่อว่า ช่วงนี้กรมสรรพสามิตควรติดตามผลการจัดเก็บรายได้ภาษีจากระบบที่มีการแบ่งขั้นของอัตรา เช่น ยาสูบอย่างใกล้ชิด ว่าจะกระทบรายได้ภาษีที่เคยเก็บได้อย่างไร รายได้ภาษียาสูบนั้นต่ำกว่าประมาณการไปถึง 9 พันล้านบาท หรือประมาณ 13% ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ทั้งนี้ ในอนาคต ในการกำหนดนโยบายภาษีอยากให้กระทรวงการคลังเปิดเผยหลักคิดต่อสาธารณชนมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจต่อผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการจะได้สามารถเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ถูกต้องและสามารถเตรียมความพร้อมรองรับได้อย่างทันท่วงที

 

ที่มา : มติชนออนไลน์