อดีต “พระเณรคำ” ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ลั่นสู้ทุกคดี ยันนับถือพุทธศาสนาแม้ไม่ได้ห่มจีวร

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 18 ก.ย. ที่ห้องพิจารณา 713 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจหลักฐานคดีหมายเลขดำ อ.2340/2560 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวิรพล สุขผล หรือฉัตติโก หรืออดีตหลวงปู่เณรคำ อายุ 38 ปี เป็นจำเลย ในความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317

กรณีเมื่อช่วงเดือน มกราคม 2543 – กลางปี 2544 จำเลย พรากเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี จากผู้ปกครองไปข่มขืนกระทำชำเรา เป็นเวลา 2 ปี จนมีบุตร 1 คน อันเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ แต่ระหว่างดำเนินคดีจำเลยได้หลบหนีไปประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาโจทก์ขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ศาลชั้นต้นแห่งรัฐบาลกลางรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยกลับมาดำเนินคดีที่ไทย เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา

โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวนายวิรพล จำเลย จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาฟังการพิจารณา

ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องของอัยการโจทก์ให้จำเลยฟังจนเป็นที่เข้าใจแล้วสอบถามว่า จะรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธ ปรากฏว่าจำเลยแถลงยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อ้างว่าไม่ได้กระทำผิด และเด็กที่เกิดมาก็ไม่ใช่บุตรของตนเอง ขณะที่อัยการโจทก์แถลงขอนำพยานโจทก์เข้าเบิกความ 9 ปาก ขณะที่ทนายความจำเลยแถลงต่อขอนำพยานจำเลยเข้าเบิกความ 9 ปาก

ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตคู่ความตามที่ร้องขอ โดยเริ่มสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 8 มิถุนายน 2561

ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 713 ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีดำ อ.2341/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายวิรพล สุขผล หรือฉัตติโก หรืออดีตหลวงปู่เณรคำ อายุ 38 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปี 2552, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และฐานฟอกเงิน ซึ่งจำเลยให้การปฎิเสธ

Advertisment

โดยอัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2552 – 27 มิ.ย.2556 ต่อเนื่องกัน จำเลยอาศัยความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนา โดยหลอกลวงแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงว่า จำเลยเป็นประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จ.อุบลราชธานี และอ้างว่าได้นิมิตพบองค์อินทร์ขอให้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ต้องใช้หยกเขียวแท้จากประเทศอิตาลี และก่อสร้างเสาวิหารแก้วครอบองค์พระแก้วมรกต รวมทั้งก่อสร้างวิหารสำหรับประชาชนในการปฏิบัติธรรมที่วัดป่าขันติธรรม และจะทำการก่อสร้างวัดที่ จ.สุพรรณบุรี

นอกจากนี้ ยังจะก่อสร้างถาวรวัตถุและจัดกิจกรรมประกอบศาสนกิจ และซื้อเรือจากประเทศสหรัฐฯเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม จึงได้โฆษณาป่าวประกาศ ชักชวนให้ประชาชนมาบริจาคเงิน ทองคำ และทรัพย์สิน โดยตั้งตู้รับบริจาคเงินไว้ และมีป้ายเขียนว่า “รับบริจาคร่วมสร้างมหาวิหาร” และจัดทำป้ายโฆษณาเชิญชวนให้คนบริจาคเงินหรือทรัพย์สินอย่างเปิดเผย โดยปรากฏข้อความอยู่ในเว็บไซต์ www.Luangpunenkham.com โดยระบุว่าจะสร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งงบประมาณก่อสร้างเฉพาะองค์พระแก้วมรกตจำนวน 150 ล้านบาท ซึ่งมีบรรดาญาติโยมบริจาคทุนทรัพย์มาร่วมก่อสร้างจำนวนมาก

Advertisment

นอกจากนี้ ยังได้ลงข้อมูลรูปภาพการสร้างพระแก้วมรกตจำนวน 4 แผ่น ลงในเว็บไซต์ดังกล่าว และมีการระบุข้อความว่า “ติดต่อจอง เสามหาวิหารพระแก้วมรกตจำลอง องค์ใหญ่ที่สุดในโลก มี 199 ต้นเท่านั้น ตอนนี้จองไปแล้ว 70 ต้น เป็นเจ้าภาพต้นละ 3 แสนบาท ต้องถวายปัจจัยใน 2554 กองงานพระเลขานุการ” อีกทั้งจำเลยยังใช้วิธีอวดอ้างสร้างศรัทธาบารมีความน่าเชื่อถือให้แก่ตนเอง โดยจัดทำเป็นหนังสืออัตชีวประวัติ เช่น ชาติหน้าไม่ขอกลับมาเกิด, บารมีธรรมชาติสุดท้าย, ปาฏิหาริย์หลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก เป็นต้น

จนทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่า จำเลยเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หากผู้ใดร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์สินให้แก่จำเลยแล้ว จะได้รับผลบุญมากกว่าการทำบุญให้แก่พระภิกษุสงฆ์ทั่วไป ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อ 29 คน บริจาคเงินรวมทั้งสิ้น 28,649,553.25 บาท และจำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้มาร้องทุกข์หรือให้การไว้อีกจำนวนมาก และจำเลยได้โอนเงินจำนวน 1,130,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ไปซื้อรถตู้ยี่ห้อโตโยต้า 1 คัน ระบุชื่อผู้อื่นเป็นผู้ครอบครองสิทธิ์แทน ซึ่งความจริงแล้วจำเลยอวดอุตริมนุสธรรม เป็นการอวดอ้างคุณวิเศษให้แก่ตนเอง เป็นการละเมิดพระธรรมวินัย ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และจำเลยไม่ได้สร้างองค์พระแก้วมรกตองค์ใหญ่ ไม่ได้สร้างเครื่องพระแก้วมรกตด้วยทองคำ ไม่ได้สร้างมหาวิหารครอบพระแก้วมรกตด้วยหยกแท้จากประเทศอิตาลี แต่มีการสร้างพระแก้วมรกตด้วยหิน มีคุณสมบัติคล้ายหินอ่อน แต่ไม่มีคุณสมบัติของหยกหรือหยกเขียว และไม่ใช่หินหยกจากประเทศอิตาลี

นอกจากนี้ ไม่ได้ก่อสร้างวิหารประชาชนในการปฏิบัติธรรมที่วัดป่าขันติธรรม จ.อุบลราชธานี และ จ.สุพรรณบุรี ไม่ได้ซื้อเรือจากประเทศสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม และอื่นๆ ตามที่จำเลยกล่าวอ้างหลอกลวงไว้แต่อย่างใด อีกทั้งวัดป่าขันติธรรมไม่ได้ขอตั้งให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากจำเลยเกรงว่าจะถูกตรวจสอบ และจำเลยไม่ได้เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบโดยเจ้าคณะ จ.ศรีษะเกษ ได้มีคำสั่งฉบับที่ 4/2556 ให้จำเลยกล่าวคืนสิกขา เลิกปฏิบัติตนว่าเป็นสมณะทันที เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2556

เหตุเกิดที่ จ.ศรีษะเกษและที่อื่นเกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 และ 343

โดยเจ้าหน้าที่ราชภัณฑ์ได้เบิกตัว นายวิรพล หรืออดีตหลวงปู่เณรคำ ในชุดนักโทษจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีลูกศิษย์และประชาชนที่ยังศรัทธาประมาณ 20 คนเดินทางมาให้กำลังใจและร่วมฟังการพิจารณาคดี

ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง และสอบถามซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ และศาลสอบถามจำเลยถึงแนวทางในการต่อสู้คดี ซึ่งจำเลยแถลงขอให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ว่า ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนนั้น ตนได้สร้างวัดและพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลกจริง ส่วนความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น มีญาติโยมเป็นคนจัดทำข้อความและนำไปเผยแพร่ให้ และความผิดฐานฟอกเงินนั้นรถยนต์ส่วนหนึ่งจำเลยซื้อเองและญาติโยมซื้อมาถวายเพื่อใช้ในกิจของสงฆ์

ต่อมาอัยการโจทก์แถลง นำพยานบุคคลเข้าสืบจำนวน 12 ปาก ส่วนใหญ่เป็นประชาชนผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่สำนักพระพุทธศาสนา และเจ้าหน้าที่ ปปง. ขณะที่ฝ่ายจำเลยแถลง นำพยานบุคคลเข้าสืบ จำนวน 49 ปาก

อย่างไรก็ตาม ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าสืบ 8 ปาก โดยนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายวิรพลอยู่ในห้องพิจารณานั้น มีชาวบ้านหลายคนที่ยังเชื่อมั่นศรัทธาก้มลงกราบ และสอบถามความเป็นอยู่ ซึ่งนายวิรพลกล่าวว่า แม้ตนเองจะไม่ได้สวมจีวรแล้ว แต่จิตใจยังนับถือพุทธศาสนาเหมือนเดิม

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์