“น้ำประปากร่อย” ประชาชนแห่ซื้อน้ำดื่มเกลี้ยงเชลฟ์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงตั้งแต่ต้นปี โดย 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเหลือใช้การได้เพียง 23% ทำให้ปัญหาภัยแล้งปีนี้ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค

โดยเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา การประปานครหลวง (กปน.) ได้เปิดเผยว่า เนื่องจากปีนี้สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงสุดในรอบ 50 ปี ขณะที่น้ำในเขื่อนมีน้อย ไม่เพียงพอที่จะปล่อยมาผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับระบบผลิตน้ำของ กปน.ไม่สามารถกำจัดความเค็มออกจากน้ำดิบได้ จึงส่งผลให้รสชาติของน้ำประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถรับรู้ถึงรสชาติกร่อยเล็กน้อยในบางช่วงเวลา ซึ่งค่าความเค็มสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)

จากกรณีดังกล่าว ทำให้ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ซึ่งมีปัญหาน้ำประปากร่อย ประชาชนแห่ซื้อน้ำดื่มในห้างค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยจากการสำรวจช่องทางค้าปลีกในพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำประปากร่อย เมื่อช่วงวันที่ 6-7 มกราคมที่ผ่านมา เช่นในย่าน จรัญสนิทวงศ์ ทั้งเทสโก้ โลตัส และแฟมิลี่มาร์ท พบว่า น้ำดื่มขนาด 5 ลิตร และ 1.5 ลิตร ของแบรนด์หลักๆ เช่น สิงห์ ,เนสท์เล่ เพียวไลฟ์ ,น้ำทิพย์ ,คริสตัล ขาดตลาดทั้งสิ้น ส่วนไซซ์เล็ก 400-650 มิลลิลิตร ยังคงมีสินค้า โดยพนักงานแจ้งว่า สินค้าเริ่มหมดตั้งแต่ช่วงวันที่ 4-5 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะต้องรอ 1-2 วัน

เช่นเดียวกัน ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขา ประชานิเวศน์ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำประปามีรสชาดกร่อยพบว่า น้ำดื่มขนาด 5 ลิตร ขนาด 1.5 ลิตร ทุกแบรนด์เกลี้ยงเชลฟ์ จะเหลือเฉพาะน้ำแร่นำเข้าเท่านั้น รวมทั้งน้ำดื่มขวดเล็กก็เหลือเพียงเล็กน้อยโดยพนักงานแจ้งว่าสินค้าหมดสต็อกมา 2 วันแล้ว ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าสินค้าจะเข้ามาส่งเมื่อไหร่

แหล่งข่าวระดับสูงในวงการน้ำดื่มรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากภัยแล้งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี และถือเป็นปกติที่ผู้ประกอบการน้ำดื่มจะต้องติมตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการติดตามพบว่าปัญหาภัยแล้งปีนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าทุกๆ ปี และคาดว่าจะลากยาวไปอีก 4-5 เดือน สำหรับภาคธุรกิจที่ผ่านมาโรงงานน้ำดื่มขนาดใหญ่ของทุกแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นสิงห์ คริสตัล เนสท์เล่ท์ น้ำทิพย์ ฯลฯ ได้มีการเตรียมแผนในแง่ของการผลิตเพื่อรองรับความต้องการมาเป็นระยะๆ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วแต่ละโรงงานจะมีการขุดเจาะน้ำจากใต้ดินขึ้นมาผลิตเป็นน้ำดื่ม แต่ละโรงมีการขุดเจาะลงไปลึกตั้งแต่ 200-300 เมตร จึงไม่มีปัญหาทั้งในเรื่องของปริมาณน้ำและปัญหาเรื่องน้ำเค็ม

“หากตลาดมีความต้องการมากขึ้น เชื่อว่าแต่ละโรงงานก็จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด” แหล่งข่าวกล่าว