แห่ตั้ง200บริษัทแรงงานต่างด้าว โขกหัวคิว3เท่าตัว

ธุรกิจจัดหาแรงงานต่างด้าวบูม 200 บริษัทลุยแย่งเค้ก ตั้งบริษัทลูกฟันกำไรส่วนต่าง 3 เท่าตัว ผู้ประกอบการตั้งคำถามเข้าข่ายจ้างงานไม่เป็นธรรม หวั่นกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน สำนักบริหารแรงงานต่างด้าวชี้ธุรกิจแรงงานต่างด้าวฮอตสุดในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ตั้ง 200 บริษัท บูมหาต่างด้าว

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์เคยส่งผลให้ไทยเคยถูกจัดอันดับอยู่ใน Tier 3 เสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐอเมริกามาครั้งหนึ่ง และทำให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ผ่านมาตรการการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นยังนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น จนกระทั่งในปี 2559 ไทยจึงเลื่อนอันดับมาอยู่ที่เทียร์ 2 (Tier 2 Watch List) หรือบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ธุรกิจจัดหาแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการ

ตามข้อมูลของกรมการจัดหางานพบว่า ปัจจุบันมีบริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าวเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก แต่มีที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเพียง 218 ราย (ข้อมูลล่าสุด 29 พ.ย. 2562) ซึ่งบริษัทเหล่านั้นจัดหาแรงงานจาก 4 ประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม ดังนั้นเมื่อประเมินค่าใช้จ่ายในการเรียกเก็บจากแรงงานต่างด้าว คือ ค่าจัดทำพาสปอต, ค่าวีซ่า, ค่ายื่นใบอนุญาตทำงาน (work permit), ค่าตรวจสุขภาพ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 50,000-70,000 บาทต่อหัว ขณะที่ภาครัฐระบุว่า ค่าใช้จ่ายจะไม่เกิน 20,000 บาทต่อหัว คำถามที่ตามมา คือ ส่วนต่างที่เกิดขึ้นราว 3 เท่าตัว หรือประมาณ 30,000-50,000 บาท คือ ค่าบริการที่บริษัทจัดหาเรียกเก็บจากแรงงานต่างด้าวหรือไม่

“ถ้าบอกว่าเรากำลังหนีเรื่องเทียร์ ภาครัฐก็ต้องออกมาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงเมื่อเรากังวลเรื่องการลงทุนจากต่างชาติมากมาย ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน แต่เรากลับไม่ดำเนินการแก้ไขเลย และประเด็นนี้ถือว่าเป็นการจ้างงานแบบไม่เป็นธรรมหรือไม่ อีกทั้งเมื่อแรงงานเกิดปัญหา ผู้ประกอบการจึงต้องเข้ามาจัดการ และรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากไม่มีฐานแรงงานที่ดี นักลงทุนที่ไหนเขาจะเข้ามาลงทุน”

ตั้งบริษัทลูกเก็บค่าส่วนต่าง

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในทางกลับกันยังพบบริษัทรับจัดหาแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดตั้ง “บริษัทลูก” ขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่จัดหาแรงงานต่างด้าว “แทนบริษัทแม่” ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีการวิเคราะห์ของผู้ประกอบการว่า หากดำเนินการจัดหาแรงงานโดยบริษัทแม่ จะต้องรายงานข้อมูลในการจัดหาแรงงานต่อกรมการจัดหางาน แต่หากให้บริษัทลูกดำเนินการแทน กฎหมายครอบคลุมไม่ถึงก็ไม่จำเป็นต้องรายงาน ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ “ค่าส่วนต่าง” ที่เกิดขึ้น จึงถือเป็นรายได้ที่ไม่ต้องรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแล

ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นต่างด้าว แต่ไม่ใช่แรงงานทั่วไป เข้ามาทำงานในไทยผ่านการจัดหาจากบริษัทจัดหานั้น สามารถเรียกเก็บค่าดำเนินการต่าง ๆ ได้ไม่เกิน 30% จากผลตอบแทนในเดือนแรกที่เข้ามาทำงาน ในขณะที่แรงงานทั่วไปไม่มีการกำหนดค่าดำเนินการจัดหา ตรงนี้จึงกลายเป็นช่องทางให้กับบริษัทจัดหางานเข้ามาทำธุรกิจนี้มากขึ้น

“อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เอเย่นต์ A มอบหมายให้นาย B ที่ได้รับการยืนยันว่า สามารถใช้ licens ของเอเย่นต์ A ในการจัดหาแรงงานต่างด้าวได้ โดยไม่ต้องแจ้งข้อมูลกลับมาที่หน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลหรือไม่ ทั้งนี้ รูปแบบดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเฉพาะฝั่งไทยเท่านั้น ฝั่งเพื่อนบ้านก็มีการทำในลักษณะเดียวกัน ฉะนั้นเท่ากับว่าแรงงานต่างด้าวกว่าจะได้เข้ามาทำงานในไทยอาจต้องจ่ายซ้ำจ่ายซ้อน รวมแล้วมีความเป็นไปได้ที่อาจต้องจ่ายสูงถึง 50,000 บาทต่อหัว”

จัดหางานโขกราคาต่างด้าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามขั้นตอนการจัดหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน บริษัทผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหาแรงงานต่างด้าวมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ไม่เกิน 10,000-15,000 บาทเท่านั้น ประกอบด้วย ค่าหนังสือเดินทาง, ใบขออนุญาตทำงาน และค่าตรวจสุขภาพ รวมถึงค่าประกันสุขภาพเท่านั้น ส่วนกรณีที่มีการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเข้าไปดำเนินการในการจัดหาแรงต่างด้าวถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้จัดหาแรงงานได้

ผู้สื่อข่าวสำรวจแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมก่อสร้างพบว่า บางรายมีการจัดตั้งบริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าวเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลถึงค่าใช้จ่ายที่แบ่งออกเป็น ค่าทำเล่มพาสปอร์ตในกรณีที่เป็นแรงงานต่างด้าวแบบ MOU แบ่งเป็น สัญชาติกัมพูชา ค่าใช้จ่าย 21,000 บาท เมียนมา 20,000 บาท ลาว 18,000 บาท ค่าต่อวีซ่าครบกำหนด 2 ปี 15,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีค่าสัญญา หรือ work permit อยู่ที่ 1,900 บาท และค่าจัดทำเล่ม work permit 100 บาทต่อคนต่อปี ค่าต่ออายุทำงาน-พร้อมรายงานตัวทุก 90 วัน 100 บาทต่อคนต่อปี อีกทั้งในกรณีการต่อวีซ่า หากเกินจากกรอบเวลาที่กำหนด ต้องถูกปรับ 2,000 บาท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงแรงงานได้เพิ่มเงื่อนไขสำหรับแรงงานต่างด้าวจะต้องทำเอกสารเพิ่มถิ่นพำนักในช่วงที่ทำงานในไทย