เร่งคลายปมสังหารหมู่ 8 ศพ ตร.ไม่ทิ้งทุกประเด็นสงสัย เรียกญาติให้การเพิ่ม-เยียวยา

จากกรณีคนร้ายไม่ต่ำกว่า 6-7 คน อาวุธปืนครบมือ แต่งชุดลายพราง เข้าไปที่บ้านของนายวรยุทธ สังหลัง อายุ 46 ปี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเขางาม หมู่ที่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ก่อนจับคนในบ้านและญาติๆ ของภรรยานายวรยุทธ และครอบครัว รวม 11 คน ก่อนลงมือสังหารอย่างโหดเหี้ยม โดยใช้ปืน .38 ของผู้ใหญ่บ้านยิงศีรษะทีละคน จนเสียชีวิต 8 คน และบาดเจ็บ 3 คน เหตุเกิดเมื่อเวลา 00.30 น.คืนวันที่ 11 กค.ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความสะเทือนขวัญต่อผู้คน จนทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.พร้อมทีมสืบสวนต้องลงพื้นที่ด่วน เพื่อมาคลี่ปมสังหารหมู่ในครั้งนี้ ซึ่งเบื้องต้นพบมีชนวนการสังหารมาจาก 4 ประเด็น คือ เรื่องขัดแย้งการเมืองท้องถิ่น การฟ้องร้องหลายคดี รวมทั้งโรงโม่หินที่อยู่ระหว่างการสัมปทาน ที่มีความขัดแย้งออกเป็น 2 กลุ่ม และเรื่องส่วนตัว

ความคืบหน้าวันที่ 13 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางเจ้าหน้าที่จากสำนักงานยุติธรรม จ.กระบี่ ได้เดินทางมาที่ อบต.บ้านกลาง เพื่อให้ญาติของผู้เสียชีวิตแต่ละรายได้กรอกรายละเอียด สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีผู้ใดเสียชีวิตบ้าง เพื่อที่จะให้การช่วยเหลือเยียวยาจากเหตุการณ์ฆาตกรรม ซึ่งจะมีการพิจารณาให้การช่วยเหลือรับเงินต่อไป โดยมีญาติของแต่ละคน เดินทางมากรอกประวัติให้

ขณะที่นายสนาน สังหลัง อายุ 63 ปี เป็น ส.อบต.หมู่ 3 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก ซึ่งเป็นพ่อของนายวรยุทธ สังหลัง ผญบ.หมู่ 1 ผู้เสียชีวิตพร้อมครอบครัว กล่าวว่า กรณีดังกล่าวแม้ตนจะเป็นพ่อของผู้ตาย แต่ก็ห่างกันเนื่องจากอยู่คนละหมู่บ้าน และไม่ทราบว่ามาจากสาเหตุใด แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการฟ้องร้องกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่จะหารือกับทางพ่อตามากกว่าทางตน จึงทำให้ไม่ทราบสาเหตุที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้เข้าตรวจสอบ บริเวณหมู่ 2 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการทำโรงโม่ระเบิดหิน ที่ได้มีการขอประทานบัตรจากผู้ประกอบการรายหนึ่งตั้งแต่เมื่อ 5-6 ปีก่อน และทางกรมศิลปากรได้ประกาศให้ภูเขาในบริเวณดังกล่าวเป็นโบราณสถาน เนื่องจากพบเครื่องใช้ดินเผา กระดูกมนุษย์โบราณ รวมถึงภาพเขียนสีตามเพิงผาต่างๆจำนวนมาก ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 ส่งผลให้การสัมปทานพื้นที่ไม่สามารถทำได้ โดยข้อมูลพบว่า การขอสัมปทานเมื่อปี 2558 ได้มีการยื่นขอสัมปทานอีกรอบ โดยเปลี่ยนชื่อผู้ขอ ซึ่งทางชาวบ้านระบุว่า นายทุนผู้ขอสัมปทาน ได้ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวตั้งตัวตีในการเคลียร์กับชาวบ้านให้สนับสนุน ซึ่งผู้ใหญ่เป็นผู้ชักนำมาและกว้านซื้อที่ดินรอบๆ แต่มีชาวบ้านคัดค้านอย่างหนัก เนื่องจากเห็นว่าเป็นพื้นที่โบราณสถานมีวัตถุโบราณหลายพันปี และยังเป็นแหล่งต้นน้ำ รวมถึงผลกระทบจากฝุ่นละออง จึงได้ให้ทางกรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบ และนำมาสู่การขึ้นทะเบียนในเวลาต่อมา ส่งผลให้การขอสัมปทานเหมืองต้องหยุดชะงัก และการลงทุนซื้อที่รวมทั้งการวิ่งเต้นต่างๆ ใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งกรณีดังกล่าว อาจทำให้มีผู้ไม่พอใจ นำมาสู่การสังหารได้เช่นกัน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์