อัพเดท: มติ ครม.ฉบับสมบูรณ์ ปิดสถานที่เสี่ยงทั่วกรุงเทพฯ 14 วัน

file. Photographer: Brent Lewin/Bloomberg via Getty Images

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุม ครม. วันนี้ (17 มี.ค.63) มีมติเข้มข้น ป้องกัน โควิด-19 โดยจะปิดพื้นที่เสี่ยงบางส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล 14 วัน เริ่ม 18-31 มี.ค.63

โดยมีด้านมาตรการป้องกัน “ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง” ให้มีการปิดชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สำหรับสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ โรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 14 วัน

รายละเอียดมาตรการ 6 ข้อ มีดังนี้

1. ด้านมาตรการด้านสาธารณสุข ย้ำว่าไม่มีการปิดเมือง หรือ ปิดประเทศ (การห้ามเข้า-ออก) เพื่อป้องกันและสกัดการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย จึงมีมาตรการให้ชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศที่เป็นพื้นที่เขตติดต่ออันตราย 4 ประเทศ +2 เขตปกครองพิเศษต้องดำเนินการดังนี้

– ขาเข้า ต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน

– ต้องมีประกันสุขภาพ

– ยินยอมใช้แอปพลิเคชั่นติดตามของรัฐ

– มาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งบก น้ำ อากาศ

– สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดูหนังสือเดินทางของชาวต่างชาติด้วยว่า ประเทศก่อนประเทศสุดท้ายคืออะไรบ้าง เป็นเขตติดโรคหรือไม่ แล้วแจ้งกระทรวงมหาดไทย

– มาตรการกักกันของรัฐถูกคุมไว้สังเกตอาการ 14 วัน

– ให้พัฒนาระบบกลไกการกักกันผู้ที่เป็นหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ณ ที่พำนักตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

– สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง (ยังไม่ประกาศเป็นเขตติดต่อโรคอันตราย) ต้องดำเนินการดังนี้

– ขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน

– ต้องมีประกันสุขภาพ

– มีที่พำนักที่สามารถติดต่อได้ในประเทศไทย

– ยินยอมใช้แอฟพลิเคชั่นติดตามของรัฐ

– มาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งบก น้ำ อากาศ

– มาตรการกักกักของรัฐถูกคุมไว้สังเกตุอาการ 14 วัน

ห้ามข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจเดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น และเตือนประชาชนให้งดการเดินทางไปในประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตโรคติดต่ออันตราย และพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง

แนะนำให้คนไทยที่พำนักอาศัยในต่างประเทศชะลอการเดินทางกลับประเทศไทย จนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศจะดีขึ้น

ให้มีการกำหนดให้ชาวต่างประเทศ รวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ให้มีการใช้แอปพลิเคชั่น ติดตามตัว จัดหาและเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็น ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับรับมือระยะ 3 ได้แก่ สถานพยาบาล เตียง หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือ และชุดป้องกันโรค

2. มาตรการด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน “เร่งผลิตในประเทศและจัดหาจากต่างประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ”

– เร่งผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยผ้า เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการป้องกัน

– เจลแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากผ้า เมื่อเดินทางเข้าสถานที่ชุมนุม/ชุมชน และเร่งผลิตหน้ากากผ้าให้เพียงพอ

– นำหน้ากากอนามัยของกลางที่ยึดได้ส่งศูนย์ฯ เพื่อกระจายต่อไป

– สำรวจความต้องการของเวชภัณฑ์ที่จำเป็น อาทิ ชุดป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (PPE) หน้ากาก N95 ละอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น และประสานกับต่างประเทศ

– ในการจัดหาเพิ่มเติมให้เพียงพอ เช่น จะมีการตรวจสอบการขาย Online การกักตุน และการระบายของสินค้า

3. มาตรการ ด้านข้อมูล การสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐบาลมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่

– กระทรวงสาธารณสุข เป็นการแถลงฉพาะด้านข้อมูลทางการแพทย์ การสาธารณสุข

– ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เป็นการแถลงภาพรวมในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง

4. มาตรการด้านต่างประเทศ การจัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศ

-ให้กระทรวงการต่างประเทศใช้ประโยชน์จาก TEAM THAILAND ในต่างประเทศ เพื่อเป็นทีมเฉพาะกิจ (Team Thailand COVID-19) ดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีทูตประจำประเทศนั้นๆ เป็นหัวหน้าทีม

5. มาตรการด้านการป้องกัน

ให้ “ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น” เช่น สถานที่ซึ่งผู้คนมาร่วมเป็นกิจวัตร เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอาจแพร่เชื้อได้ง่าย แม้จะป้องกันแล้ว และยังมีทางเลือกอื่นทดแทนการชุมนุม ได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน ให้ปิดชั่วคราว ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะวลา 2 สัปดาห์ และให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ดำเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ให้พัฒนาระบบและกลไกการกักกันผู้ที่เป็นหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ณ ที่พำนัก ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

งดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น จัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาด้วย และให้เพิ่ม “มาตรการป้องกันสำหรับพื้นที่/สถานที่ที่ยังต้องปิด” ประกอบด้วย

– ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในสถานที่ที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดยดำเนินการตามมาตรการป้องกันที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

– ร้านค้า ร้านอาหาร ให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การคัดกรองอุณหภูมิ การใช้หน้ากากอนามัย รวมทั้งลดความแออัด

– งดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดของโรค เช่น จัดคอนเสิร์ต จัดงานแสดงสินค้าต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ

– มุ่งลดความแออัดในการเดินทางเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค ให้มีมาตรการ ยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ เลื่อนวันหยุดสงกรานต์ 13-15 เม.ย. ออกไปก่อน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในระบบขนส่งสาธารณะในประเทศ

– ให้งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดของหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน หรือหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ของโรค รวมถึงการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวด้วย

และให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน และทำงานที่บ้าน และส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล โดยให้หน่วยราชการทุกหน่วยทำแผนการทำงานจากบ้าน และรายงานผลการปฏิบัติงานต่อศูนย์โควิด-19 ด้วย

นอกจากนี้ให้เพิ่มกลไกการกำกับดูแลในระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่า กทม. โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ ใช้อำนาจตรม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 35 เพื่อจำกัด ดูแล การเคลื่อนย้ายที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดหรือกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการจำกัดพื้นที่เสี่ยง ตามข้อมูลที่มีการแพร่ระบาด และรายงานผลการดำเนินการต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-2019) โดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกวัน

ให้มีหน่วยงานปฏิบัติการควบคุมโรคในทุกอำเภอ เขต หมู่บ้าน โดยมีบุคคลจากภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

6. ด้านมาตรการช่วยเหลือเยียวยา

– กลุ่มธุรกิจ โรงงาน สถานประกอบการ โรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านการท่องเที่ยวให้ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, คมนาคม, พาณิชย์, อุตสาหกรรม, แรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหามาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ต้องชะลอการ lay off พนักงาน ลูกจ้าง อาทิ มาตรการช่วยเหลือการลดราคาห้องพักของธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของกิจการโรงงาน

– กลุ่มประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้ กระทรวงคมนาคม ,มหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และมีภาระในการผ่อนชำระ เช่น รถจักรยานยนต์ ฯลฯ เพื่อให้สถาบันการเงินผ่อนผันการชำระค่างวด รวมถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพต่างๆ ที่อยู่นอกระบบ (พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างรายวัน ฯลฯ) กลุ่มเกษตรกร (ผลไม้ ดอกไม้ กล้วยไม้ ฯลฯ) ที่ได้รับผลกระทบ และพิจารณามาตรการเพื่อนำเสนอเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ในระยะที่ 2 ต่อไป

– ให้ กระทรวงคมนาคม, ยุติธรรม, พาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดูแลอย่างเข้มงวด ในเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ไวรัสโควิด เช่น หนี้นอกระบบ การบังคับคดี การขายฝาก เป็นต้น

– สร้างขวัญและกำลังใจให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการของรัฐบาลเพื่อรองรับผลกระทบที่สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคที่เคยเข้าคณะรัฐมนตรี ขอให้ศูนย์ข้อมูลโควิด นำไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ ต่อไป

สรุป ขณะนี้ประเทศควบคุมสถานการณ์และชะลอระยะ 2 ให้นานที่สุด โดยใช้มาตรการควบคุม ป้องกัน รักษา และสื่อสารในทุกๆ ด้าน โดยถือว่าการแก้ไขปัญหา COVID-19 มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 เนื่องจากมีผลกระทบทั้งต่อชีวิตของประชาชนโดยตรง และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคบรรเทาลงแล้ว รัฐบาลจะได้ดำเนินการฟื้นฟูผลกระทบด้านอื่นๆ ซึ่งรวมถึงด้านเศรษฐกิจต่อไป

ทั้งนี้ รัฐบาลจะประเมินสถานการณ์ COVID-19 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจรายวันอย่างใกล้ชิดและรอบคอบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและปรับ/เพิ่มมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป