worst-case ไทยติดเชื้อ 1 ล้านคน แพทย์บอก “รับไหว” แต่ขอประชาชนอย่าพาตัวเองไปเสี่ยง  

(Photo Adryel Talamantes/NurPhoto via Getty Images)

จากข้อมูลสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ผ่าน ๆ มา พบว่า เมื่อจำนวนผู้ป่วยในประเทศเพิ่มขึ้นถึงจำนวน 100 คน หลังจากนั้นจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว จากร้อยเป็นพันในเวลาไม่กี่วัน และจากพันเป็นหมื่นภายในเวลาราว 10 วันเท่านั้น ช่วงเวลาที่จำนวนผู้ระบาดในประเทศแตะหลักร้อย จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ตัดสินอนาคตของประเทศนั้น ๆ ก็ว่าได้  

ประเทศไทยของเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ช่วงที่ว่านี้ ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ทะลุ 100 คน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 ผ่านมา 5 วัน ณ วันที่ 20 มีนาคม 2563 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 300 กว่าคนแล้ว ถ้าไม่มีปัจจัยที่มีประสิทธิภาพมายับยั้งการระบาด อนาคตของเราก็อยู่ไม่ไกลจุดที่จีนและเกาหลีใต้ผ่านมาแล้ว และไม่ไกลกับจุดที่อิตาลีและหลายประเทศในยุโรปกำลังเผชิญหน้าสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าเราอยู่หลายเท่าตัว

 

คณะแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศที่มารวมตัวกันในงานแถลงข่าว “รวมสมอง ร่วมใจ สู้ภัย COVID-19” จัดโดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประทศไทย และสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย เห็นตรงกันว่า “ตอนนี้” คือช่วงเวลาสำคัญ ช่วงเวลาตัดสินอนาคตว่าประเทศของเราจะเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือจะเป็นประเทศที่ควบคุมสถานการณ์ได้ สามารถชะลอการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยให้เพิ่มทีละน้อยได้ 

ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่กราฟจำนวนผู้ติดเชื้อกำลังพุ่งขึ้นสูง จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประชาชนชาวไทยจะต้องร่วมมือร่วมใจกันยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส ชะลอให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทีละน้อย โดยการดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดี ปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์และภาครัฐ และไม่พาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

“ขณะนี้เราต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานราชการ เอกชน ประชาชน”

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและได้จำลองสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทยตอนนี้ ไทยอยู่ในสถานการณ์ที่อัตราการแพร่ระบาดประมาณ 1:1.6 คน

จากที่มีมาตรการปิดสถานที่ที่รวมคนจำนวนมาก ให้ประชาชนทำงานในที่บ้าน ลดการพบปะสังสรรค์ ส่วนคนที่ป่วยก็พยายามแยกตัว คาดการณ์ว่าหลังเดือนมีนาคม 2564 ถ้าทำได้ตามแผน จะหยุดการเพิ่มการติดเชื้อได้เหมือนที่ประเทศจีนทำได้

“เราใช้เวลานานกว่าจีน เพราะว่าเราจะพยายามทำไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน และไม่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ของเราต้องเหนื่อยมาก”

นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยจำลองสถานการณ์ที่แย่ที่สุด (worst-case scenario) ประเทศไทย ในระยะเวลา 1 ปี นับจากเดือนมีนาคมปีนี้ถึงเดือนมีนาคม 2564

สถานการณ์ที่แย่ที่สุดก็คือ ไทยจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 1 ล้านคน โดย 800,000 คน หรือ 80% ของผู้ติดเชื้อจะไม่ป่วยหรือไม่มีอาการ ส่วนอีก 200,000 คน หรือ 20% ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการป่วย

ในจำนวนผู้ป่วย 200,000 คน จะเป็นผู้ป่วยอาการน้อย 160,000 คน (80%) ผู้ป่วยอาการปานกลาง 30,000 คน (15%) และผู้ป่วยอาการรุนแรง ต้องรักษาตัวในหอผู้ป่วยวิกฤติ 10,000 คน (5%)

 

 

ทั้งนี้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ บอกว่า ในความเป็นจริง ตัวเลขน้อยกว่านี้ได้ แต่ในทางการแพทย์จำเป็นต้องสร้างแบบจำลองที่แย่ที่สุดไว้ก่อน แล้วประเมินว่ารับมือไหวแค่ไหน

“ด้วยการคาดการณ์แบบนี้ ในจำนวนคนป่วย 200,000 คนที่เราจะเจอในเวลา 1 ปี เราสามารถรรับมือได้ และตัวเลขอาจจะต่ำกว่า 200,000 คน ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ”  

“ด้วยทรัพยากรทางการแพทย์ที่เรามีอยู่ เรามั่นใจว่าเราดูแลทุกคนในประเทศได้ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ระบบการดูแลสุขภาพของเราครอบคลุมหมด” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ยืนยัน

ด้าน ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทรัพยากรทางการแพทย์มีเพียงพอรองรับผู้ป่วย 200,000 คนใน 1 ปี แต่ตึงมือพอสมควร ฉะนั้นจึงหวังว่าประเทศเราจะพยายามควบคุมการแพร่กระจายของโรคไม่ให้จำนวนผู้ป่วยมากเกินไป ซึ่งถ้าควบคุมได้ดี จำนวนผู้ป่วยไม่มากถึง 200,000 คน ระบบการดูแลผู้ป่วยก็จะดูแลและบริการได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนการจะควบคุมไม่ให้จำนวนผู้ป่วยมากถึงจำนวนที่คาดการณ์ในจำลองสถานการณ์ที่แย่ที่สุด จะทำอย่างไร ?

ผศ.นพ.กำธร บอกว่า การควบคุมติดเชื้อไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง แต่อยู่ที่ทุกภาคส่วน ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันที่จะดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ ซึ่งทำได้โดย

1.ไม่เข้าไปร่วมกิจกรรมในสถานที่ที่แออัด มีคนมาก ๆ

2.งดหรือเลื่อนการเดินทางไปต่างประเทศ

3.ถ้าหน่วยงานสามารถจัดงานให้ทำที่บ้านได้ ควรทำ

4.สวมหน้ากากในกรณีที่ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ในรถโดยสารที่คนแน่น ส่วนการอยู่ในสถานที่สาธารณะที่เปิดโล่ง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัย

5.ถ้าเดินทางมาจากต่างประเทศ ควรแยกตัวเองอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน แยกห้องน้ำ ห้องนอน แยกรับประทานอาหาร ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือ alcohol hand rub

6.ระหว่างการกักตัวไม่ควรเดินทางออกไปนอกพื้นที่โดยไม่มีความจำเป็น

7.ถ้าไม่มีอาการใด ๆ ยังไม่ต้องไปขอรับการตรวจหาเชื้อ การตรวจเมื่อไม่มีอาการแล้วไม่พบเชื้ออาจจะทำให้เข้าใจผิดว่าไม่เป็นโรคนี้ แล้วทำให้ขาดความระมัดระวังการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ ในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมาก แออัด กลับจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคด้วย

8.ในระหว่างกักตัว ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ ไอ เหนื่อยง่าย ให้ไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้อง ระหว่างเดินทาง ควรสวมหน้ากากอนามัย และทำความสะอาดมือทันทีที่ทำได้

9.สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว (โรคอื่นที่ต้องไปรับยาที่โรงพยาบาลเป็นประจำ) ควรติดต่อกับทางโรงพยาบาลเพื่อขอรับยาที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปรับยาเอง นอกจากกรณีมีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ

แพทย์เตือนควรหลีกเลี่ยงรถที่คนแน่น ๆ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรหันหน้าไปคนละทาง หรือก้มหน้าลง
(Photo by Adisorn Chabsungnoen/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

“จากที่มีข้อมูลตอนนี้ พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการไปอยู่ในสถานที่แออัด เช่น ในผับ ในสนามมวยซึ่งคนแน่นมาก เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่จะติดเชื้อมา ฉะนั้นมาตรการสำคัญที่สุดในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ คือ งดเข้าไปร่วมกิจกรรมในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ๆ สถานที่ที่การระบายอากาศไม่ดี ดังที่รัฐบาลมีมาตรการปิดสถานที่เสี่ยง ถ้ารัฐบาลปิดแล้ว แต่ประชาชนยังยังแอบไปในที่ที่มีคนจำนวนมาก ๆ เชื้อก็จะระบาดกว้างขึ้นแน่นอน” รศ.นพ.กำธรกล่าว

ด้าน ผศ.นพ.สหดล ปุญญถาวร อาจารย์ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะนายกสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า สถานการณ์ของประเทศไทยปัจจุบันมีโอกาสที่จะเกิดภาวะวิกฤตทางสาธารณสุข หากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการเตรียมความพร้อม เนื่องจากการรักษาและดูแลผู้ป่วยระยะวิกฤตนั้นค่อนข้างซับซ้อน การรักษาจึงต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญหลายสาขา พร้อมด้วยยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ตลอดจนการให้การบริบาลที่ควบคุมการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานั้นล้วนเป็นทรัพยากรที่ไทยเรามีจำกัด จึงมีโอกาสเกิดภาวะขาดแคลนทรัพยากรสาธารณสุขด้านเวชบำบัดวิกฤต

ความจำเป็นทั้งหมดที่ว่ามา เป็นเหตุผลที่คณะแพทย์ระดับ “อาจารย์หมอ” ออกมาขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลตัวเอง ไม่ไปสถานที่เสี่ยง เช่นกันกับที่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลหลายแห่งชูป้ายว่า “หมอทำงานหนักที่โรงพยาบาลเพื่อคุณ  ขอคุณอยู่บ้านเพื่อพวกเรา”