คู่มือกรมควบคุมโรค “โควิด-19” ระบบขนส่งสาธารณะ ต้องเช็ดฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทุก 1 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การคาดการณ์การระบาดและมาตรการในระยะที่ 3 ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 ที่จัดทำโดยศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุแนวทางในการปฏิบัติสำหรับสถานที่ต่างๆ ไว้อย่างละเอียด

โดยจัดทำเป็นคู่มือ สำหรับสถานที่สาธารณะ ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ตามที่กรมควบคุมโรค และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศปิดสถานที่เสี่ยงไปแล้ว ในกรุงเทพฯ 26 จุด และต่างจังหวัดก็มีลักษณ์คล้ายกัน

ทั้งนี้ ในช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา (21-22 มีนาคม 2563) มีประชาชนประมาณ 80,000 คนเดินทางกลับต่างจังหวัด และรวมตัวกันแออัดที่ขนส่งสาธารณะ ทั้งที่ขนส่งหมอชิต สนามบิน และสถานีขนส่งในต่างจังหวัด

จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามคู่มือ ของกรมควบคุมโรค ดังนี้

1.มาตรการสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ

1.1 ด้านอาคารสถานที่ และยานพาหนะ

– ดูแลความสะอาดของสถานที่ให้บริการ โดยเฉพาะห้องสุขา สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร โดยการเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือแอลกอฮอล์ 70% อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง และให้ถี่มากขึ้นในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารแออัด

– ทำความสะอาดยานพาหนะทุกเที่ยวที่มีการให้บริการ เน้นการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิดที่ผู้โดยสารสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ราวจับในรถโดยสาร ที่จับบริเวณประตู เบาะนั่ง ที่เท้าแขนด้วยน้ำผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาด และ 70% แอลกอฮอล์ สามารถทำลายเชื้อไวรัสได้

– ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีผู้โดยสารใช้ร่วมกันทุก 1 ชั่วโมง เช่น ปุ่มกดตู้จำหน่ายตั๋ว ปุ่มกดตู้จำหน่ายเครื่องดื่ม เป็นต้น หรือใช้แผ่นพลาสติกใสปิดทับปุ่มเหล่านั้น และเปลี่ยนทุกชั่วโมง

– จัดเตรียมแอลกอฮอล์เจล เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารรวมถึงพนักงาน ในพื้นที่ส่วนกลาง และใกล้กับอุปกรณ์ที่ใช้มือสัมผัสบ่อย ๆ เช่น บริเวณทางเข้ายานพาหนะ อุปกรณ์จำหน่ายตั๋ว ราวจับ รวมบันไดเลื่อน ปุ่มกดลิฟต์ เป็นต้น

– จัดเตรียมหน้ากากอนามัยกรณีพบผู้โดยสารที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เป็นต้น

– ทำความสะอาดบัตรโดยสารที่นำมาใช้ซ้ำได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

1.2 ด้านบุคลากร

– มอบหมายให้มีฝ่ายบุคคลหรือผู้รับผิดชอบงานด้านบุคลากร เพื่อทำหน้าที่ติดตามข่าวสาร เผยแพร่ความรู้และคำแนะนำในการปฏิบัติตนแก่บุคลากรในองค์กร ในเรื่องพื้นที่ระบาด และสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ควรปฏิบัติ

– ตรวจสุขภาพพนักงานผู้ให้บริการบนยานพาหนะประจำปี

– ผู้ขับขี่และพนักงานประจำยานพาหนะ สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อขณะปฏิบัติงานตลอดเวลา และควรล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำสบู่บ่อย ๆ สำหรับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ หากไม่มีผู้โดยสาร ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย

– จัดหาสื่อความรู้ และการปฏิบัติตนเมื่อเจ็บป่วยแก่เจ้าหน้าที่ และสำหรับประชาสัมพันธ์บนรถโดยสารสาธารณะ

– สังเกตอาการป่วยของผู้ใช้บริการ และบุคลากรในสังกัด หากพบพนักงานมีอาการป่วย หรือสงสัยว่าตนเองจะติดเชื้อให้รายงานกับฝ่ายบุคคล เพื่อให้หยุดงานจนกว่าจะหายเป็นปกติ

1.3 ด้านการบริการ

– เพิ่มช่องทางการจำหน่ายตั๋วโดยสาร เพื่อลดความแอดัดบริเวณที่จำหน่ายตั๋ว เช่น การจำหน่ายตั๋วโดยสารออนไลน์

– มาตรการส่งเสริมการใช้บัตรโดยสารที่เป็นบัตรส่วนตัว เช่น บัตรเติมเงิน เพื่อลดการสัมผัสตู้ซื้อตั๋วโดยสาร

– เมื่อพบผู้โดยสารมีรอาการป่วย ไอ จาม หรือมีน้ำมูก ให้ขอความร่วมมือผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยที่จัดไว้ ถ้าเป็นไปได้ ควรเปิดกระจกรถ

– ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเกี่ยวกับการติดต่อ และการป้องกันโรคอย่างถูกต้อง

– จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการล้างมือ ให้เพียงพอกับผู้โดยสาร (ถ้าเป็นไปได้)

2.มาตรการสำหรับผู้โดยสาร

– พกหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจล เพื่อใช้เมื่อต้องโดยสารรถสาธารณะ

– เมื่อมีอาการป่วยระหว่างเดินทางและไม่มีหน้ากากอนามัย ให้แจ้งและขอหน้ากากอนามัยจากพนักงาน และให้นั่งแยกจากผู้โดยสารอื่น ๆ

– หากสังเกตเห็นผู้โดยสารในยานพาหนะเดียวกันมีอาการไอ จาม ผิดปกติ ให้แจ้งพนักงานเพื่อจัดหาหน้ากากอนามัยให้ผู้โดยสาร