จระเข้ที่ภูเก็ตยังไม่ยอมกินอาหารเป็นวันที่22 จนท.ลองปล่อยปลาเป็น3ตัว สุดท้ายยังไม่กิน

ความคืบหน้ากรณีเจ้า “เลพัง” จระเข้เพศผู้ ความยาวเกือบ 3 เมตร ที่จับได้ในขุมน้ำแห่งหนึ่งใกล้หาดเลพัง ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อช่วงรุ่งสางของวันที่ 1 กันยายน 2560 หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีชาวต่างชาติใช้โดรนบินถ่ายภาพไว้ได้ขณะที่จระเข้เลพังว่ายน้ำที่หน้าชายหาด โดยเจ้าหน้าที่ทำการค้นหากว่า 2 คืนก่อนจับตัวได้ และนำตัวไปพักไว้ที่บ่อเลี้ยงภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต บ้านพารา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ชั่วคราวระหว่างรอให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ ซึ่งระหว่างที่รอการตรวจสอบก็มีกลุ่มต่างๆ ออกมาให้ความเห็นเป็นสองฝ่าย ทั้งอยากให้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ขณะที่อีกส่วนก็อยากให้นำไปอยู่ในที่ปลอดภัย เนื่องจากเกรงจะเกิดอันตรายกับประชาชนและนักท่องเที่ยว

ต่อมา เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ นายไพบูลย์ บุญลิปตานนท์ ประมง จ.ภูเก็ต พร้อมเจ้าหน้าที่กรมประมง เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้เชี่ยวชาญจาก ม.มหิดล และ ม.เกษตรศาสตร์ ฯลฯ เข้าดำเนินการตรวจร่างกาย เก็บข้อมูลทางชีวภาพ หาตำหนิ และไมโครชิพ พร้อมกับเก็บตัวอย่างเลือด เซลล์เยื่อบุ อุจจาระ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยจะมีการตรวจพิสูจน์สายพันธุ์จระเข้เลพังโดยภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ การตรวจสุขภาพโดยศูนย์วิจัยสุขภาพจระเข้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ตรวจปรสิตโดยศูนย์ตรวจวินิจฉัยทางการสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ตรวจโรคติดเชื้อและเก็บเนื้อเยื่อเข้า DNA BANK โดยศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่าต่างถิ่นและสัตว์อพยพ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะได้ผลตรวจทั้งหมด

ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวได้มีการพูดคุยหารือกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในอนาคต สรุปเบื้องต้น หากผลการตรวจพันธุกรรมของเจ้าเลพังพบเป็นสายพันธุ์แท้อาจจะต้องปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ถ้าปล่อยไว้ที่เดิมต้องสอบถามความเห็นคนในพื้นที่ ถ้าปล่อยในแหล่งใหม่ที่อยู่ห่างไกลจากนักท่องเที่ยวต้องพิจารณาว่าที่ไหน แต่หากเป็นลูกผสมไฮบริดอาจจะใช้สถานที่ที่เป็นธรรมชาติขนาดใหญ่ แต่กันพื้นที่ปิดไว้ให้อาศัยเป็นการเฉพาะ

ล่าสุดระหว่างที่รอผลการตรวจดีเอ็นเอ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังบ่อพักชั่วคราวของเจ้าเลพังซึ่งอยู่ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ตอีกครั้ง เพื่อสอบถามอาการและพฤติกรรมของเจ้าเลพัง โดยในวันนี้ (22 กันยายน) นายไพศาล สุขปุณพันธ์ เจ้าพนักงานประมงอาวุโส สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายประเสริฐ ทองสมบูรณ์ ประมงอำเภอถลาง และนายวิทยา รัตนะ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต ได้ร่วมติดตามความคืบหน้าของเจ้าจระเข้เลพังเช่นกัน

ซึ่งสภาพของเจ้าเลพังในเบื้องต้น พบว่ายังนอนแช่น้ำอยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวตามปกติ สภาพร่างกายโดยรวมมองจากสายตาพบว่ายังสมบูรณ์ดี บาดแผลตามตัวเริ่มหายดี ภายในบ่อได้มีการปรับปรุงโดยมีการก่อเนินทรายไว้ให้เจ้าเลพังขึ้นพักผ่อน ซึ่งพบร่องรอยการขึ้นจากน้ำมาพักบนเนินทราย แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเจ้าเลพังยังไม่ยอมกินอาหารที่เจ้าหน้าที่นำไปให้ ทั้งอาหารที่ตายแล้วเช่นเนื้อไก่หรือปลา และอาหารทะเลอื่นๆ สุดท้ายจึงต้องลองใช้ปลาเป็น ที่ใช้ปลากะพงขาวจำนวน 3 ตัว นำไปปล่อยไว้ในบ่อ แต่ผ่านมาหลายวันก็ยังอยู่ครบ บางตัวเข้าไปนอนข้างลำตัว ว่ายวนอยู่ใกล้ปาก แต่เจ้าเลพังไม่มีทีท่าหิวโหย ซึ่งนับจากวันที่จับตัวได้จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 22 วัน ที่เจ้าจระเข้เลพังไม่ยอมกินอาหาร

นายไพศาลกล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเจ้าเลพังอีกครั้งในรอบสัปดาห์ พบว่าสุขภาพโดยรวมยังสมบูรณ์แข็งแรง ทีมดูแลฯได้ติดตามดูพฤติกรรมของเจ้าเลพังอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งนำอาหารซึ่งเป็นสัตว์น้ำมาให้ แต่ที่ทราบจากรายงานของเจ้าหน้าที่คือ ขณะนี้ยังไม่มีการกินอาหาร แต่จากสภาพโดยรวมแล้วความสมบูรณ์แข็งแรงยังจัดว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนผลการตรวจดีเอ็นเอและส่วนอื่นๆ นั้นคาดว่าจะทราบผลได้เร็วๆ นี้ ซึ่งจะเป็นผลดีว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสมและรวดเร็วที่สุด

ส่วนกรณีเจ้าเลพังยังไม่กินอาหารนั้น จากที่ได้ศึกษานิสัยการกินของจระเข้ รวมถึงสอบถามผู้เลี้ยงของสวนสัตว์ภูเก็ต ระบุว่าตามปกติใช้เวลา 15 วันกว่าจะให้จระเข้กินอาหาร 1 ครั้ง หลังจากกินอาหารจระเข้ก็จะอยู่นิ่งๆ เคลื่อนไหวน้อย ในส่วนของจระเข้เลพัง ถึงแม้จะผ่านมา 21 วัน (เข้าสู่วันที่ 22) ยังไม่กินอาหาร ถึงแม้จะเป็นกังวล แต่ก็เชื่อว่าไม่น่ามีผลกับตัวจระเข้มาก เพราะจระเข้ตามธรรมชาติสามารถอดอาหารได้หลายเดือน ซึ่งอาจจะรอให้เจ้าเลพังปรับตัวอีกเล็กน้อยก็เชื่อว่าจะเริ่มกินอาหาร

ทั้งนี้ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะทราบผลการตรวจจากทุกฝ่าย ซึ่งหากทราบผลแล้วคงต้องให้กรมอุทยานฯ เป็นแม่งานหลักในการจัดหาสถานที่ว่าจะให้เจ้าเลพังไปอาศัยที่ไหนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนคนไทยที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับกรณีของจระเข้เลพังเป็นพิเศษ ขณะนี้ไม่ต้องเป็นห่วง ยืนยันว่าทีมเจ้าหน้าที่ที่นำจระเข้เลพังขึ้นมาจะช่วยกันดูแลเป็นอย่างดี เฝ้าติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยมหิดลมาช่วยตรวจสุขภาพอย่างละเอียด รวมถึงให้ยาบำรุง จนถึงวันนี้สุขภาพของเจ้าเลพังยังคงสมบูรณ์แข็งแรง รวมถึงพยายามดูแลสภาพจิตใจ ด้วยการทำเนินทรายให้เจ้าเลพังขึ้นมานอนพัก คล้ายลักษณะตามธรรมชาติที่ต้องใช้ชีวิตทั้งในน้ำและบนบก ถึงแม้จะอยู่ในบ่อแคบๆ แต่ก็ต้องทำให้สมบูรณ์ ตลอดระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะดำเนินการหาสถานที่ใหม่หลังทราบผลการตรวจต่อไป

 


ที่มา มติชนออนไลน์