เครือข่ายผู้ประกันตนขอปลดล็อกโรคประกันสังคมต้องจ่าย ชงบอร์ดการแพทย์ ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 24 กันยายน นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายผู้ประกันตนคนทำงาน (คปค.) กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังการหารือกรณีการปลดล็อก 14 โรคและการบริการของผู้ประกันตนที่ไม่สามารถเบิกจากกองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้หารือร่วมกันกับเครือข่าย 17 องค์กรของ คปค. โดยเบื้องต้นมีการสรุปว่าหลายข้อต้องปลดล็อก แต่หลายข้อไม่จำเป็น ซึ่งหลังจากนี้จะรวบรวมทั้งหมดและเข้ายื่นต่อคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ในต้นเดือนตุลาคมนี้ โดยผลการหารือทั้ง 14 โรคและการบริการพบว่า ควรต้องมีการปลดล็อก 11 ข้อ ประกอบด้วย 1.โรคหรือการประสบอันตรายเนื่องจากการใช้สารเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด 2.โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทคนไข้ใน 180 วัน ใน 1 ปี ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นตามดุลพินิจของคณะกรรมการการแพทย์ โดยกรณีนี้เห็นว่าควรปรับปรุงแก้ไข ควรมีการทดแทนการขาดรายได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และไม่เกิน 180 วัน ทั้งนี้ ในกรณีที่ระบุว่าขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการการแพทย์นั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่จำกัดระยะเวลาครองเตียง ทำให้เหมือนสิทธิบัตรทอง และยังมีประเด็นต้องพิจารณากรณีถ้ารักษาเป็นปี บางสถานประกอบการไม่จ้างต่อ จะทำให้คนไม่มีรายได้จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่ารักษา ตรงนี้ต้องหาทางปรับปรุงแก้ไขด้วย

นายมนัสกล่าวอีกว่า 3.การบำบัดทดแทนไตวายเรื้อรัง ยกเว้นกรณีไตวายเฉียบพลันที่มีระยะเวลารักษาไม่เกิน 60 วัน ให้มีสิทธิรับบริการทางการแพทย์ฯ ควรปลดล็อกเช่นกัน เพราะหากเป็นระยะเริ่มต้นจะทำอย่างไร อย่างสิทธิบัตรทองตรวจเจอก็ได้รับการรักษา ซึ่งกระบวนการต่างกัน 4.การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง ในปัจจุบันมีโรคเกิดขึ้นใหม่ สปส.ไม่ได้มีการทดลองจะทำอย่างไร อย่างกรณี รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง พบผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่งไป รพ.รัฐ แล้วตัดเนื้อเยื่อไปตรวจ 30,000 บาท ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เพื่อหาเชื้อ จริงๆ กรณีแบบนี้ สปส.ต้องจ่ายให้ผู้ประกันตน 5.การรักษาภาวะมีบุตรยาก ควรนับว่าเป็นโรค เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องการมีบุตรน้อยในปัจจุบัน ขณะที่ผู้สูงอายุมากขึ้น 6.การตรวจเนื้อเยื่อเพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ กรณีจะสอดคล้องกับกรณีการรักษาที่อยู่ระหว่างทดลอง เพราะการตรวจเนื้อเยื่ออยู่ในขั้นตอนและมีค่าใช้จ่าย สปส.ต้องจ่ายด้วย 7.การผ่าอวัยวะ ยกเว้นการปลูกถ่ายไขกระดูก ปลูกถ่ายไต การเปลี่ยนอวัยวะกระจกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ควรแก้ไขให้ละเอียดขึ้น ซึ่งกรณีต้องมีการหาข้อมูลเพิ่มเติม

นายมนัสกล่าวอีกว่า 8.การผสมเทียม เรื่องนี้ยังต้องพิจารณาว่าจะปลดล็อกหรือไม่ ซึ่งหากมีต้องมีข้อยกเว้นโดยระบุว่าไม่ใช่กรณีอุ้มบุญ แต่จะเป็นเรื่องการรักษาภาวะมีบุตรยากในประเด็นการส่งเสริมประชากร 9.การบริการระหว่างการรักษาตัวแบบพักฟื้น ต้องมีคำนิยามว่าคืออะไร ซึ่งที่ผ่านมา สปส.มีการรักษาเพียงอย่างเดียว ถ้าการรักษายังไม่เสร็จต้องมีการฟื้นฟู เช่น เป็นสโตรกต้องมีการกายภาพบำบัดต่อ ซึ่งทาง สปส.ไม่มีงบฯ ในส่วนนี้ ก็ต้องมาพิจารณาร่วมกัน 10.ทันตกรรม ควรต้องมีเรื่องการตรวจสุขภาพเพิ่มเข้าไป และ 11.สายตา ก่อนทำงานมีสายตาปกติ อาจเกิดจากการทำงาน หรือช่วงอายุ ซึ่งเข้าข่ายเป็นโรคจากการทำงานได้ในงานบางประเภทที่ใช้สายตามากๆ

“ส่วนที่ไม่จำเป็นต้องปลดล็อกจะมี 3 ข้อ คือ 1.การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 2.การตรวจใดๆ ที่เกินความจำเป็นในการรักษาโรคนั้น กรณีนี้เห็นว่าไม่ต้องปลดล็อก แต่ควรเพิ่มคำว่าเกินความจำเป็นให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาด้วย และ 3.การเปลี่ยนเพศ โดยทั้งหมดจะต้องมีการหารืออย่างละเอียด และสรุปอีกครั้งก่อนเสนอบอร์ดการแพทย์ของ สปส.ต่อไป” นายมนัสกล่าว

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์