หวั่นช่วงหยุดอยู่บ้านต้านโควิด สถิติความรุนแรงในครอบครัวไทยอาจพุ่ง

หวั่นช่วงหยุดอยู่บ้านต้านโควิด สถิติความรุนแรงในครอบครัวไทยอาจพุ่ง สค.ย้ำเบอร์ 1323 สายด่วนสุขภาพจิต-1300 สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม

นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid-19 มีข้อมูลสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงที่รัฐบาลใช้มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และอาจมีสถิติความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงและผู้หญิงมีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

ซึ่ง พม. ได้ขานรับนโยบายด้วยการกำชับให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดกับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีและครอบครัว เพราะตระหนักดีว่าเมื่อเกิดความเจ็บป่วยขึ้นกับบุคลใดบุคคลหนึ่ง ครอบครัวเป็นหน่วยแรกที่จะได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ สถิติล่าสุด ณ ปลายเดือนมีนาคม 2563 เริ่มมีข้อมูลสถานการณ์ด้านสตรีและครอบครัวที่เกิดจากผลกระทบของมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของ Covid-19 ดังนี้

1.ประเทศจีน พบว่า ภายหลังจากการกักตัวช่วงเกิดโรคระบาดมีการอัตราการขอหย่าร้างมากขึ้นถึง 25% เจ้าหน้าที่เชื่อว่าสาเหตุอาจเกิดจากการที่คู่รักใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากเกินไป จึงอาจเกิดมีปากเสียงกันจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนลุกลามไปสู่การหย่าร้างในที่สุด

2.ประเทศฝรั่งเศส มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่มีคำสั่งให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน โดยกรุงปารีสมีการแจ้งความเพิ่มขึ้น 36% ส่วนพื้นที่อื่นทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 32% นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีผู้หญิง 2 คนเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายโดยคนในครอบครัว

3.ประเทศอังกฤษ คณะกรรมการต่อต้านด้านความรุนแรงในบ้านของอังกฤษและเวลส์ ระบุว่า มีการโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในบ้านในช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 เพิ่มขึ้นถึง 65% (ข้อมูลเมื่อ 1 เมษายน 2563)

4.องค์การสหประชาชาติ-UN เปิดเผยข้อมูลว่า ผู้หญิงในประเทศยากจนมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำความรุนแรง และเข้าถึงความช่วยเหลือได้ยาก และผู้หญิงที่เคยถูกกระทำความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะถูกกระทำซ้ำบ่อยครั้งขึ้น

จากข้อมูลดังกล่าว ในระยะที่รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ จึงมีความเป็นไปได้ว่าครอบครัวไทยอาจจะประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันได้ กล่าวคืออาจมีปัญหาด้านสัมพันธภาพในครอบครัว และอาจมีสถิติความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น

โดยตลอดเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา สค.ได้เฝ้าระวังตัวเลขสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว จากการจัดเก็บข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว หรือ ศปก.สค. พบว่า สถิติเดือนมีนาคม 2563 มีจำนวน 154 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีจำนวน 144 ราย

เมื่อเทียบกับสถิติเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวน 140 ราย แม้ว่าเพิ่มขึ้นไม่มากนักแต่ก็ถือว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมมาตรการรองรับ

นางสาวอุษณี กล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์ที่ครอบครัวต้องหยุดอยู่บ้านเช่นนี้ เพื่อเป็นการใช้เวลาร่วมกันในบ้านอย่างมีคุณภาพ สค. ขอเสนอคลิปวีดิโอกิจกรรมต่างๆ ให้ทุกครอบครัวเลือกทำกิจกรรมทำร่วมกัน นอกจากช่วยลดความเครียดได้แล้ว ยังช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการที่เราไม่สามารถไปใช้บริการ ร้านค้า สถานบริการต่างๆ ได้ตามปกติ

โดยมีตัวอย่างกิจกรรมง่ายๆ 3 กลุ่ม คือ1.กิจกรรมที่ครอบครัวร่วมกันทำเพื่อป้องกันโรค มีคลิปวิธีทำหน้ากากผ้า และ Face shield DIY 2.กิจกรรมทำอาหารในบ้านง่ายๆ และ 3.กลุ่มงานประดิษฐ์ที่ทำได้จากวัสดุเหลือใช้ เช่น พวงกุญแจจากเศษผ้า ประชาชนสามารถติดตามคลิปที่น่าสนใจอีกมากได้ทางเว็ปไซต์ สค. www.dwf.go.th

แต่ถ้าหากยังมีความความกังวล ความเครียด หรือเสี่ยงที่จะเกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัวขึ้น สามารถขอคำแนะนำได้จากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือสามารถขอความช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษาได้จากสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

ซึ่งแนวทาง กระบวนการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่จะเป็นไปตามมาตรฐาน กระบวนการและขั้นตอนของกฎหมาย เช่น กระบวนการช่วยเหลือตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ในครอบครัว พ.ศ. 2550


“สค.หวังว่า ครอบครัวไทยทุกครอบครัวจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน สค. ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัว ใช้ความรักความเข้าใจของครอบครัวเป็นพลังให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน” นางสาวอุษณี กล่าว