ราชกิจจาฯประกาศหลักเกณฑ์ “ค่าใช้จ่าย” รักษาโควิด-19 และแนวปฏิบัติส่งต่อผู้ป่วย

Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images
ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศ ” หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข” อัตราค่าใช้จ่ายรักษาโควิด-19 597 รายการ พร้อมแนวปฏิบัติการส่งต่อผู้ป่วยของสถานพยาบาล เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยในการเข้ารักษาพยาบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่7เมษายน 2563 ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามเมื่อ 3เมษายน 2563
ประกาศระบุว่า ด้วยมาตรา 36 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 กำหนดให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินการระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาและการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 มีมติอนุมัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) แล้ว จึงเห็นควรประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. ๒๕๔๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วย โรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) “
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเป็นไปตาม แนบท้ายประกาศนี้
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินโควิด-19
เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลให้มีความเหมาะสม เห็นควรกำหนด ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ เป็นธรรมและสามารถใช้บังคับทุกภาคส่วน
 
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 36 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ไว้ดังนี้
ข้อ 1 ในหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้
“ค่าใช้จ่าย” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาล หรือการส่งต่อผู้ป่วย ที่ปรากฏตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขนี้
“ผู้ป่วย” หมายความว่า ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
“สถานพยาบาล” หมายความว่า สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน
ข้อ 2 กรณีผู้ป่วยให้สถานพยาบาลให้การรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินเพื่อให้พ้นจากอันตราย ตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาลโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บ ค่ารักษาพยาบาล เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดูแลรักษา และให้สถานพยาบาลแจ้งต่อกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับ การรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน หรือจากส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐทราบโดยเร็ว
ข้อ 3 สถานพยาบาลต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด กรณีการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาพยาบาลยังสถานพยาบาลอื่น สถานพยาบาลต้องจัดการให้ มีการจัดส่งต่อตามความเหมาะสม ตามมาตรฐานวิชาชีพมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วยและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยอาจส่งต่อผู้ป่วยได้ในกรณีดังนี้
(1) สถานพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาตัวในเครือข่ายสถานพยาบาลที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วย
(2) สถานพยาบาลมีศักยภาพไม่เพียงพอในการดูแลรักษาผู้ป่วย
(3) ผู้ป่วยหรือญาติมีความประสงค์จะไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น
ข้อ 4 สถานพยาบาลจะได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วยตามแนวทางที่ กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น ในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่าย แนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขนี้ กรณีสถานพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยไปรับการดูแลรักษายังสถานพยาบาลอื่นตามข้อ 3 (1) หากผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยปฏิเสธไม่ขอให้ส่งต่อ หรือกรณีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ประสงค์จะไปรับการรักษา ที่สถานพยาบาลอื่นตามข้อ 3 (3) ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง
ข้อ 5 ให้สถานพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามแนวทางการเรียกเก็บที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด
ข้อ 6 ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตรวจสอบความถูกต้อง สรุปค่าใช้จ่าย และแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน หรือจากส่วนราชการ หรือองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ทราบภายในสามสิบวันนับตั้งแต่เวลา ที่ได้รับเอกสารครบถ้วนแล้ว
ข้อ 7 ให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน หรือจากส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ จ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตรา ค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขนี้ให้แก่สถานพยาบาลภายในสิบห้าวัน นับจากวันที่ส านักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแจ้งกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน หรือจากส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
ข้อ 8 ในกรณีที่มีการส่งต่อผู้ป่วยจากสถานพยาบาลแห่งที่หนึ่งไปยังสถานพยาบาลที่รับส่งต่อ สถานพยาบาลนั้น จะได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่รับผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุข ก าหนด ในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขนี้
ข้อ 9 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
พร้อมบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้าย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกําหนดค่าใช้จ่ายในการดําเนินการ ผู้ป่วยฉุกเฉินโควิด-19 ทั้งหมด 597 รายการ ตามเอกสารแนบ
หมายเหตุ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วย ประกันวินาศภัยให้ใช้สิทธิดังกล่าวก่อน