ค่าไฟแพง เพราะ “ค่าความพร้อมจ่าย” นักวิชาการ แนะรัฐเจรจาผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน

“เดชรัตน์ สุขกำเนิด” อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เขียนบทความตอบคำถาม สถานการณ์ “ค่าไฟแพง” ในหัวข้อ “ปัญหาราคาค่าไฟฟ้าช่วงโควิด-19” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ ทำให้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นัดหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในวันที่ 20 เมษายน 2563

นายเดชรัตน์ระบุว่า “ปัญหาราคาค่าไฟฟ้าในช่วงโควิด-19” สืบเนื่องจากปัญหาราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จากการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเมื่อจำเป็นต้องอยู่บ้านช่วยชาติ และการที่ต้องจ่ายแพงขึ้นตามอัตราก้าวหน้า รวมถึงคำถามว่า รัฐบาลจะลดค่าไฟฟ้าให้มากกว่า 3% ได้หรือไม่? ผมขอแสดงความเห็นสักเล็กน้อยในส่วนของราคาค่าไฟฟ้าสักเล็กน้อยดังนี้

สถานการณ์การใช้ไฟฟ้า

ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด เมื่อวานนี้ (19 เมษายน 2563) 24,481 เมกะวัตต์ ส่วนความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 อยู่ที่ 28,636.7 เมกะวัตต์ ซึ่งยังต่ำกว่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 30,853.2 เมกะวัตต์ เรียกว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีนี้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมามาก น่าจะเป็นเพราะการลดการบริโภคไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ตามมาตรการล็อกดาวน์

ปัญหากำลังการผลิตสำรอง

ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่เรามีตอนนี้อยู่ที่ 45,575 เมกะวัตต์ เพราะฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้ (28,636.7 เมกะวัตต์) เรามีกำลังการผลิตสำรองในระบบอยู่ที่ 60% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้ และหากเทียบกับเมื่อวานนี้ (24,481 เมกะวัตต์) เราก็มีกำลังการผลิตสำรองอยู่ที่ 86% ของความต้องการไฟฟ้าล่าสุด

อนึ่ง ถ้าเราพูดในมุมกลับ เราอาจกล่าวได้ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าของเราประมาณ 46% ไม่ได้เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า

ค่าความพร้อมจ่าย

การมีกำลังการผลิตสำรองเหลืออยู่ในระบบมากเกินไป (จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าที่ควรมีกำลังการผลิตสำรองประมาณ 15%) ทำให้เราจำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนการลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้า ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และ กฟผ. โดยในกรณีของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนแบบที่มีความพร้อมจ่าย เราก็เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่าย และก็จะถูกรวมเข้าไว้ในระบบค่าไฟฟ้า เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

ปัญหาของค่าความพร้อมจ่าย หรือค่าตอบแทนในการลงทุนก็คือ แม้ว่า ปัจจุบันนี้ เราใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เราก็ยังต้องจ่ายเงินความความพร้อมจ่ายนี้ต่อไปอยู่ดี หรือเรียกว่า “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” (ตามคำว่า “ค่าความพร้อมจ่าย” เลย) และรายจ่ายนี้ก็จะถูกเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค

ดังนั้น หากเราพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เราใช้โรงไฟฟ้าเพียงประมาณร้อยละ 54 ของโรงไฟฟ้าที่เรามี และโรงไฟฟ้าที่เรามีร้อยละ 66 เป็นโรงไฟฟ้าของเอกชน (รวมการนำเข้าจากต่างประเทศ) แต่สัดส่วนค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนกลับสูงถึงร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายในการผลิตและรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด

ทางออกที่หนึ่ง การเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน

เพราะฉะนั้น การจะลดค่าไฟฟ้าลงได้ รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ทั้งในประเทศไทย และในประเทศเพื่อนบ้าน (ซึ่งบางส่วนเป็นบริษัทลูกของ กฟผ.) ให้ยอมลดค่าความพร้อมจ่ายลงมา ตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าที่ลดลง

เพราะตรงนี้คือ ค่าใช้จ่ายมากที่สุดในระบบไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน

ราคาก๊าซธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี เพราะค่าใช้จ่ายในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนก็รวมค่าก๊าซธรรมชาติเข้ามาด้วย ดังนั้น ข้อสงสัยเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติ ที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมราคาก๊าซธรรมชาติไม่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงไปอย่างมาก ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

คำตอบสำหรับเรื่องนี้คือ ราคาก๊าซธรรมชาติลดแน่ครับ แต่มันจะลดช้าลงประมาณ 6 เดือน ตามสูตรราคาคำนวณก๊าซธรรมชาติที่จะดีเลย์ตามราคาน้ำมันประมาณ 6 เดือน การออกแบบระบบราคาแบบนี้ก็เพื่อป้องกันปัญหาตอนราคาน้ำมันขึ้นแบบรวดเร็ว จะได้ไม่กระทบกับค่าไฟฟ้าเร็วเกินไปครับ

ทางออกที่สอง การปรับราคาก๊าซธรรมชาติโดยการชดเชยราคา

ในประเด็นนี้ รัฐบาลอาจใช้วิธีขอลดราคาก๊าซธรรมชาติในเวลานี้ และไปจ่ายชดเชยให้ราคาก๊าซธรรมชาติมันสูงขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าแทนก็ได้ หมายความว่า ทุกคนได้เงินและจ่ายเงินเท่าเดิม เพียงแต่ปรับระยะเวลาการรับเงินในช่วงนี้เล็กน้อย เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับค่าไฟฟ้าถูกลงในเวลานี้

หรือหากเจรจาเรื่องลดราคาก๊าซธรรมชาติไม่ได้ ก็อาจใช้วิธีที่รัฐบาลจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติส่วนที่ยังไม่ลดราคาลง (ตามสูตรการคำนวณ) ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าแทนก่อนในเวลานี้ แล้วรัฐบาลค่อยไปเก็บเงินคืนผ่านค่าไฟฟ้าในอีก 6 เดือนข้าหน้าก็เป็นได้

พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตไฟฟ้าถูกลง (ทันที) ในช่วงที่คนอยู่บ้าน และราคาค่าก๊าซธรรมชาติแพงขึ้น (โดยเปรียบเทียบ) ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นบ้านเรือน แต่อาจต้องขอความร่วมมือของภาคเอกชนและภาคธุรกิจที่จะต้องกลับมาจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น (โดยเปรียบเทียบ) ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ฝากไว้กับการประชุมบ่ายวันนี้ (20 เมษายน 2563)

ถ้าทำ 2 ประเด็นได้ คือ การลดค่าความพร้อมจ่าย และการลดราคาก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าและชดเชยให้ผู้ขายก๊าซในภายหลัง (หรือจ่ายแทนผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าและเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้า) เราก็จะสามารถลดราคาค่าไฟฟ้าได้มากกว่า 3% แน่นอน

ซึ่งรัฐบาลจะประชุมเรื่องค่าไฟฟ้าในบ่ายวันนี้ครับ

นอกจากนี้ ในระยะยาว เราควรช่วยกันตรวจสอบอย่าให้กำลังการผลิตสำรองมันล้นเกินกว่าที่ควรจะเป็น จนเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างที่เป็นอยู่ครับ

 

หมายเหตุ : รูปแรก และรูปที่สองมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่วนรูปที่สามมาจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานครับ