กรมสุขภาพจิต แนะกักตัว 14 วัน ต้องมี Social connect

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563  เพจเฟซบุ๊กข่าวสด ถ่ายทอดสดไลฟ์สตรีม โครงการ ‘พลังใจ พลังฮีโร่ สู้โควิด-19’ ทางเพจที่มีผู้ติดตามกว่า 13.8 ล้านคน รายการดังกล่าวจัดโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเผยแพร่ให้สาระความรู้ สอดแทรกความบันเทิง และประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปัจจุบัน

รูปแบบการถ่ายทอดออนไลน์ยังสอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อระดมทุนส่งไปช่วยเหลือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ เชิญชวนประชาชนโอนเงินผ่าน บัญชี พลังใจ พลัง ฮีโร่ สู้โควิด-19 กระแสรายวัน เลขที่ 1933065664 ธนาคารกรุงเทพ สาขาประชาชื่น

โดยเวลา 12.00 น. ชม Live Talk : สร้างวัคซีนใจ สู้ไปด้วยกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 คนเกิดความเครียดกลัวจะติด ต่อมาก็กังวลเรื่องปากท้อง เรื่องพวกนี้เป็นความกดดันที่จะทำให้คนเกิดความเครียด เราก็พยายามที่จะเรียกว่า เฝ้าระวัง พร้อมสำรวจความกังวลใจของคนไทย ซึ่งช่วงนี้เป็นการสำรวจทางออนไลน์ แล้วพบว่าประชาชนคนไทยมีความเครียดตามลำดับเวลาที่เพิ่มขึ้น

“เราได้สำรวจพบว่าในช่วงแรก ประชาชนเครียดกว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่ขณะนี้พบว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความเครียดมากกว่าประชาชนแล้ว แต่ว่าตัวเลขทั้งสองตัว เมื่อนำมารวมกันแล้วพบว่า ความเครียดของคนไทยทั้งหมดเรียกว่ามีสูงขึ้น ถึงขั้นที่ว่าเราต้องดำเนินการอะไรบางอย่าง” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลทางวิชาการ หลังจากที่มีการระบาดของโควิดมาระยะหนึ่งแล้ว คือในกราฟประมาณ 2-3 อาทิตย์ที่รุนแรงแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตก็จะเพิ่มตามตัวไวรัส เมื่อมีมาตรการป้องกัน การควบคุมรักษาที่ดี กราฟก็จะตก แต่กราฟสุขภาพจิตจะขึ้นตลอด สวนทางกัน เพราะว่าผลกระทบทางสุขภาพจิตอาจมีผลกระทบช้า แต่อยู่นาน ถ้าระบบการสนับสนุนแห่งรัฐ หรือระบบสนับสนุนทางสังคม จิตใจไม่มีเพียงพอที่จะภาครัฐจัดอะไรต่างๆ ลงไปช่วยเหลือประชาชน ด้านเศรษฐกิจ เรื่องของสังคม เรื่องของครอบครัว เรื่องของชุมชน ไม่ได้เข้ามาสนับสนุนอย่างเพียงพอ ปัญหาก็จะต่อเนื่องยาวนาน

“เราใช้มาตรการที่เคร่งครัดและรุนแรง ทำให้มีมาตรการทางสังคม เราห้ามคนออกจากบ้าน ให้มีระยะห่าง ให้ปิดกิจการบางกิจการหรือเรียกว่า ล็อกดาวน์ ตอนนี้ประชาชนอยู่ในระยะนี้มาประมาณเกือบหนึ่งเดือนแล้ว ช่วงระยะใหม่ๆ 2-3 อาทิตย์ เขาทนได้ แต่ตอนนี้เริ่มมีอาการแล้วว่า มีผลกระทบกับจิตใจแล้ว ถ้าเขาได้ออก ได้ปลดปล่อยหรืออะไรต่างๆ ได้ ตรงนี้ก็จะเบาลง”

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า เรื่องของการดูแลทางสังคมจิตใจ เราดูแล โดยได้รับจากกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องของการรณรงค์ การสื่อสารและรณรงค์ให้ประชาชนในเรื่องของ social distancing ที่ได้เรียนไปสักครู่ ก็ค่อนข้างดี 70-90 % แต่ว่าเราจะลดหย่อนก็ไม่ได้ ถ้าลดหย่อนโรคจะกลับขึ้นมาอีก ในช่วงแรกเราทำการสื่อสาร กรมสุขภาพจิตทำเรื่องสื่อสาร

“ตอนนี้เราแนะนำการหากิจกรรมทำทุกวัน กรมสุขภาพจิตมีโปรแกรม 14 วันว่า ในวันที่ 1 จะทำอะไรบ้าง ตื่นขึ้นมา 8 โมงเช้า ทำอะไรบ้าง ดูแลกิจวัตรตัวเอง การสวดมนต์ไหว้พระ การออกกำลังกาย การอยู่บ้าน ถ้าใครโชคดีอยู่บ้านก็สามารถเดินออกไปได้ ไปเดินออกกำลังกายได้ หลายคนอยู่ในบ้านก็ออกกำลังกายอยู่เฉพาะที่ กายบริหาร เราให้ social distancing แต่เราอยากให้ social connect คือแปลว่าอย่างไรก็ต้องติดต่อกับผู้คนหรือสังคมอยู่ ก็ work from home ได้ พูดคุยกับคนอื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้”

“ตอนนี้กรมสุขภาพจิตพยายามจะเน้นในเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า “อึด ฮึด สู้” คือเราจะผ่านวิกฤตไปได้ด้วยความเข้มแข็ง แล้วหลังจากวิกฤตเราจะยิ่งมีความมั่นคงทางใจมากขึ้น ถ้าหากเข้าไปในเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต จะสามารถฝึกบททดสอบทางใจได้และเป็นแบบคอสแบบออนไลน์ สามารถทำได้ง่ายๆ ที่บ้านหรือที่ที่ท่านสะดวก”

“ที่สำคัญตอนนี้ ต้องมีวัคซีนใจมีหลักของมันอยู่ 4 อย่าง คือ 1.ครอบครัวต้องสามารถทำให้เกิดความสงบร่มเย็นได้ (Calm) 2.save คือครอบครัวจะต้องทำให้เกิดความปลอดภัยในครอบครัว เช่น เราไม่เอาไวรัสเข้าบ้าน 3.มีความหวัง ครอบครัวที่ดี ที่จะเจริญ ที่จะมีศักยภาพที่สูง ต้องเป็นครอบครัวที่มีความหวัง ครอบครัวเราเข้มแข็ง เราต้องสร้างโอกาส สร้างความหวัง สร้างโอกาสของเราให้ได้ 4.connectedness คือการติดต่อเชื่อมโยงของคนในครอบครัวหรือชุมชน และชุมชนเข้มแข็ง ต่อไปเราคงสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ขอแค่ตั้งใจทำตามมาตราการให้เราห่างไกลจากการติดเชื้อ ต้องขอเป็นกำลังใจให้ประชาชนทุกคนด้วย”นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ต่อมาเวลา 12.30 น. ชม Live Interview หมอแล็บ แพนด้า หรือทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ประจำศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ล่าสุดที่เราทำคือการนำรถออกไปตรวจประชาชนตามบ้าน เรานำโมเดลนี้มาจากต่างประเทศ เพราะถ้าเราเจอผู้ป่วยเร็วรักษาเร็วก็ลดจำนวนผู้ป่วยได้ไวขึ้น เพื่อไม่ให้เขาต้องออกมา นั่งรถมาตรวจเอง ออกมาจากผู้คน ให้เสี่ยงกระจายโรคมากกว่าเดิมอีก เราเรียกเพื่อนๆมาช่วย อุปกรณ์ต่างๆก็หายากมาก แต่เราก็พยายามให้ทีมงานหาซื้อเก็บไว้ เราถึงพอมีอุปกรณ์อยู่ เป็นเงินส่วนตัวของพวกเราในทีม ต่อไปเราก็คงจะไปเบิกได้เพราะทางกระทรวงก็เห็นด้วย กฎหมายอันไหนที่ต้องแก้ให้เราทำงานได้กระทรวงก็แก้ให้ กระแสกตอบรับก็ดี

ทนพ.ภาคภูมิ กล่าวต่อว่า มีกระแสต่อว่าอยู่บ้าง กลัวว่าเราจะทำผิดขั้นตอน แต่เราเป็นนักเทคนิคการแพทย์ เรามีความเชี่ยวชาญ ก็ไม่ท้อ ต่อมาก็มีทางกทม.เข้ามาช่วยเหลือ กทม.เป็นที่แรกที่มีการเริ่มตรวจเชิงลุก เราทำเพื่อประเทศชาติ ภูมิใจอยู่แล้ว ที่สำคัญเราเจอผู้ป่วยจริงๆด้วย ก็รักษาได้เร็ว คัดแยกได้ การตรวจคือ เรามีแบบสอบถามให้ทำว่าเสี่ยงหรือไม่ ถ้าเราประเมินแล้วว่าเสี่ยง ก็จะนัดวันเวลาออกไปตรวจท่าน ถ้าโครงการนี้สำเร็จก็มีโครงการอื่นที่เราคิดไว้ อยากทำรถตรวจสุขภาพของหมอแล็บ

ต่อมา 13.00 – 13.30 ชม Live Entertain : VTR : ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ , Book Talk : “Covid-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ จากปีศาจ สู่เชื้อโรค” กับ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ดร.ชาติชาย มุกสง

ปิดท้ายด้วยเวลา13.30 – 13.50 Live Charity : ระดมทุนบริจาคให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจาก 4 ภาค , VDO Call เกรซ นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 และแบรนด์แอมบาสเดอร์ กรมสุขภาพจิต เชิญชวนบริจาคให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

ข้อมูลจาก  : ข่าวสดออนไลน์