ข้อสรุปแก้”กม.บัตรทอง”เดินหน้าเต็มสูบ ไม่ตัดมาตรา 5 ร่วมจ่าย ชี้มีทีมศึกษาระยะยาว

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 13 กรกฎาคม มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับ…) พ.ศ… โดย รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน พิจารณาและรวบรวมประเด็นการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ หรือกฎหมายบัตรทอง ที่เสนอมาโดยคณะอนุกรรมการที่ดำเนินการจัดประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.ฯ มี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นประธาน โดยมีการพิจารณาวาระที่กำลังถกเถียงกัน อาทิ ประเด็นการแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุข ประเด็นจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะประเด็นการร่วมจ่าย

ต่อมาเวลา 13.00 น. นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ เป็นผู้แทนของคณะกรรมการฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมได้มีการหารืออย่างกว้างขวาง และละเอียดรอบคอบอย่างมาก โดยมีการประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม และครั้งนี้ ซึ่งเป็นกำหนดการประชุมครั้งสุดท้าย ก่อนจะสรุปและรวบรวมให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในสัปดาห์หน้า โดยยังไม่ได้ออกเป็นมติแต่อย่างใด เนื่องจากต้องมีการส่งข้อสรุปจากที่ประชุมทำหนังสือเวียนรับรองมติก่อน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นในประเด็นที่กังวล และมีข้อเห็นต่าง 5 ประเด็นตามที่ภาคประชาชนกังวลนั้น ทางกรรมการไม่ได้แยกเป็น 5 ข้อ แต่พิจารณาจากภาพรวมทั้งหมด 14 ประเด็นมีอะไรบ้าง และสรุปข้อคิดเห็นของแต่ละคน แต่ละเวที รวมทั้งทุกช่องทางที่เปิดให้แสดงความคิดเห็น

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องร่วมจ่ายนั้น ทางกรรมการฯยืนยันชัดเจนไม่แก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด ยังคงมาตราเดิม และสิ่งหนึ่งที่เห็นพ้องต้องกันคือ ต้องไม่ร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่ในวิธีการในเรื่องร่วมจ่ายเป็นเรื่องระยะยาว ซึ่งขณะนี้มีคณะทำงานที่ศึกษาเรื่องความยั่งยืนทางการเงินการคลังด้านสุขภาพ ที่มีชุด นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขนั้น ที่เป็นประเด็นร้อน ทางกรรมการพิจารณาละเอียดมาก เพราะข้อมูลเยอะ และมีเสียงหลายด้าน ซึ่งเรื่องนี้มีความหลากหลายในส่วน รพ.ของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมีหลายระดับ ซึ่งวิธีคิดเรื่องเงินเดือนในอดีต เป็นการปฏิรูประบบการเงินการคลัง โดยเม็ดเงินไปตามจำนวนประชากร แต่เป็นเม็ดเงินที่มีทั้งค่าแรง และค่าบริการ ปรากฏว่า รพ.สังกัด สธ. ยังไม่สามารถบริหารได้อย่างอิสระ แต่หลังจากทำมาปรากฏว่าเม็ดเงินนี้ยังรวมเงินเดือนเข้าไปอีก การบริหารจัดการค่อนข้างยาก

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า การแยกเงินเดือนจึงเห็นว่า ตัวเลขการคิดคำนวณยังคงเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ตัวเลขบอกมาทางกระทรวงฯ เพื่อจะมาบริหารจัดการให้เหมาะสมกับบุคลากร และจะนำมาสู่การกระจายบุคลากรที่เหมาะสมในรพ.ทุกระดับด้วย นอกจากนี้ ในเรื่องการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ เป็นที่แน่นอนว่า สปสช.ดำเนินการจัดซื้อได้ถูกจริงเป็นเงินกว่า 5 หมื่นล้านใน 10 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยประเด็นกฎหมายที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงว่า สปสช.ไม่มีอำนาจจัดซื้อ จึงต้องมาทำให้ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าสธ.จะเอาอำนาจไป เพราะการทำงานร่วมกัน เพียงแต่ระบบการจัดซื้อ สปสช.มีความชำนาญก็ยังดำเนินการ ส่วนกระทรวงฯ ก็จะเป็นผู้ประสานและต่อรองราคายาให้ทั้งสามกองทุนสิทธิสุขภาพ จากเดิมได้เพียงบัตรทองเท่านั้น แต่ในปีงบประมาณ 2560 ก็ยังให้ สปสช.ทำตามเดิม แต่ในปีงบประมาณ 2561 เริ่มทำรูปแบบใหม่ โดยทั้งนี้จะต้องเสนอต่อรัฐบาลว่า ควรทำเป็นนโยบายการจัดซื้อยาในทุกกองทุน ดังนั้น หากเป็นนโยบาย ต่อไปการปรับแก้ก็จะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และภาคประชาชนก็จะมั่นใจในระบบมากขึ้น

“ส่วนสัดส่วนกรรมการ สปสช.นั้น แบ่งเป็นคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการบริการ ซึ่งทั้ง 2 บอร์ดให้เพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการ 2 คนอย่างละบอร์ด ส่วนที่เป็นกังวลที่ไม่เห็นด้วยเรื่องปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปนั่งรองประธานบอร์ด สปสช.นั้น ได้ตัดออกไปแล้ว เพราะปลัดสธ.เองท่านก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี” นพ.ณรงค์ศักดิ์กล่าว

 


ที่มา : มติชนออนไลน์