กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าเทพา ยื่นหนังสือตรวจสอบคนติดเครื่องวัดอากาศไม่แจ้งชุมชน หวั่นเอี่ยว รฟฟ.

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 กันยายน ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 100 คน นำโดยนายดิเรก เหมนคร นายหมีด ชายเต็ม แกนนำเครือข่ายฯ รวมตัวกันเพื่อระดมพล เดินทางไปยื่นหนังสือ ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอเทพา ภายหลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีกลุ่มคนซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ได้นำอุปกรณ์ เครื่องมือในการตรวจวัดอากาศมาติดตั้งเอาไว้ริมชายหาดบางหลิงและในโรงเรียนบ้านคลองประดู่ หมู่ 4 ตำบลปากบาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยไม่ได้แจ้งให้ชุมชนทราบ ทำให้ชาวบ้านได้รวมตัวกันขับไล่กลุ่มคนดังกล่าวออกไปจากพื้นที่

ในวันนี้ ตัวแทนเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงได้รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือตรวจสอบบุคคลที่มาติดตั้งเครื่องมือฯดังกล่าวว่าเกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหรือไม่ อย่างไร รวมถึงการแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านการขอใช้ที่ดินในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา เพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ว่าที่ร้อยตรี ศรายุทธ เจียรมาศ ปลัดอาวุโสอำเภอเทพา ได้ลงมาพบกับตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน เพื่อรับหนังสือ นายหมีด ชายเต็ม แกนนำเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโครงการโรงไฟฟ้าเป็นตัวแทนยื่นหนังสือ ใน 4 ประเด็น คือ การตรวจสอบกลุ่มคนที่มาติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดอากาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหรือไม่ การร้องขอให้มีการตรวจสอบผู้กระทำผิดในการตัดไม้โกงกางในป่าชายเลนผืนเดียวของอำเภอเทพา ว่ามีผู้ใดกระทำความผิดในการลอบตัดไม้โกงกางนับร้อยต้น การแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านการขอใช้ที่ดินในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา เพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และร่วมกันให้กำลังใจนายอิศดาเรศ หะยีเด รองนายกเทศมนตรีตำบลเทพา ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ก่อนหน้านี้ถูกกลุ่มคนที่อยู่ฝ่ายสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ร่วมกันขับไล่ออกจากตำแหน่ง

โดยการทำกิจกรรมของเครือข่ายฯในครั้งนี้นั้น เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นในพื้นที่ แต่แม้จะยืนยันต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี แต่ขั้นตอนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็ยังดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือ EHIA ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก่อนจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อตัดสินใจต่อไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์