“มหาดไทย” สั่งทุกจังหวัดห้ามออฟไซด์คำสั่ง ศบค. – พรก. ฉุกเฉิน

วันที่ 2 พฤษภาคม 2563 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และประสานกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับทราบ ถือปฏิบัติ และออกคำสั่งต่าง ๆ ตามข้อกำหนดฯ และคำสั่งฯ ทั้ง 3 ฉบับ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีข้อกำหนดและคำสั่ง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563

จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ยังคงดำรงอยู่ต่อไป เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปสู่พื้นที่อื่นและป้องกันมิให้โรคกลับมาแพร่ระบาดใหม่ในพื้นที่ซึ่งเคยควบคุมได้

2.ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 6) โดยผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามลำดับขั้นตอนการควบคุมโอกาสเสี่ยงของบุคคล สถานที่ และประเภทกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและตามผลการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณสุข และ

3.คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 2/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ. ศ. 2548 ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมหลัก และมาตรการเสริมในการป้องกันโรคโดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และให้สร้างการรับรู้มาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดแก่ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามคำสั่ง ศบค. ที่ 2/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548


ในกรณีหากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาและมีความเห็นจะดำเนินการอื่นใด ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) ข้อ 2 (7) ให้รายงาน ศบค.มท. ก่อนดำเนินการ เพื่อรายงาน ศบค. พิจารณา ตลอดจนเป็นการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนและเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้จังหวัดประมวลผลการปฏิบัติงานในพื้นที่ พร้อมทั้งปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัด และความต้องการรับการสนับสนุน และรายงานให้ ศบค.มท. ทราบด้วย