สธ.แจงผลตรวจโควิด-19 ยะลา 40 ราย รู้ผลตรวจรอบ 3 พรุ่งนี้

วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการว่า เชื้อโควิด 19 เป็นเชื้อโรคใหม่ ที่ทั่วโลกเพิ่งรู้จักได้ 4-5 เดือน ในระยะแรกการตรวจหาเชื้อทำได้ 2 แห่ง คือ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่อมาได้เพิ่มศักยภาพการตรวจให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย ปัจจุบันมีมากกว่า 150 แห่ง โดยวิธีการตรวจหาเชื้อใน คอ จมูก ปอด ในทางเดินหายใจ ด้วยวิธี RT-PCR ที่เป็นมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และใช้เป็นหลักการเดียวกันทั่วโลก ข้อดี คือความแม่นยำสูง ตรวจได้ตั้งแต่ระยะแรกของโรค แต่ต้องอาศัยความชำนาญในการตรวจ เครื่องมือราคาแพง มีขั้นตอนละเอียดสูง ซึ่งแล็บที่จะตรวจหาเชื้อได้ต้องประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ คือ

1.มีนักเทคนิคการแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจการตรวจด้วยวิธี RT-PCR

2. มีเครื่อง PCR และระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio Safety)

3.คนตรวจต้องผ่านการทดสอบความชำนาญ

4.ต้องมีระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐานและการรายงานข้อมูลตามกรมควบคุมโรคกำหนด

จนถึงปัจจุบันได้ตรวจหาเชื้อแล้วกว่า 227,860 ตัวอย่าง และแนวโน้มตรวจเพิ่มได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจประมาณวันละ 6,000 ตัวอย่าง ซึ่งมากกว่าเมื่อต้นเดือนเมษายน ถึง 2 เท่า ซึ่งวิธีการตรวจ RT-PCR ในห้องแล็บ จะมีตัวควบคุมมาตรฐานหรือตัวเปรียบเทียบ 2 ตัวคู่กันเสมอ คือ 1.Positive Control คือ ตัวทดสอบนี้ เวลาตรวจต้องได้ผลบวกเสมอ เพราะเอาตัวอย่างที่มีเชื้อเป็นตัวควบคุมเปรียบเทียบและ 2.Negative Control ส่วนใหญ่จะใช้น้ำเปล่า เพราะตรวจอย่างไรก็ไม่พบเชื้อ

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า จากผลตรวจ 40 ราย จ.ยะลา ที่พบผลบวกเป็นลบ เกิดจากความคาดเคลื่อน ที่ห้องแล็บยะลาถือว่าเป็นห้องผ่านตามมาตรฐานที่กำหนดแล้ว ที่ผ่านมาแล็บตรวจให้บริการประชาชน จ.ยะลาไปแล้วกว่า 4,000 ตัวอย่างใน 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งกรณีที่ตรวจแล้วพบมีปัญหา คือ ตัว Negative Control หรือตัวน้ำเปล่า เมื่อตรวจปรากฏว่าพบเชื้อ แสดงว่ามีเหตุผิดปกติเกิดขึ้น สิ่งที่แล็บยะลาทำถือเป็นขั้นตอนปกติที่ทำตามมาตรฐานห้องปฏิบัติการแต่การตรวจแล็บไม่ได้แปลว่า ต้องได้แม่นยำ 100% หรือผลซ้ำเดิมทุกครั้งไป มีโอกาสคาดเคลื่อนได้ ในทางห้องปฏิบัติการทั่วไป ความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาด (Error) อาจเกิดได้ 3 อย่าง คือ 1.ความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ (Human Error) 2.ความผิดพลาดที่เกิดจากเครื่องมือ (Machine Error) 3. ความผิดพลาดที่เกิดจากระบบ (System Error) แม้แต่แล็บมาตรฐานอย่างจุฬาฯ และกรมวิทย์ หลายครั้งก็มีผลตรวจไม่ตรงกัน ต้องเอาตัวอย่างมาตรวจซ้ำ หรือหาแล็บอีกแห่งช่วยยืนยัน ก็จะทำให้สรุปได้ว่าตัวอย่างนั้นพบเชื้อหรือไม่

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงไปสนับสนุนสอบทานหาสาเหตุความผิดปกติของผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่โรงพยาบาลยะลา และจะมีการนำตัวอย่างมาทดสอบที่ห้องปฏิบัติการฯ รอบ3 ซึ่งการตรวจใหม่ใช้ทั้งตัวอย่างเดิมมาตรวจซ้ำ และเก็บตัวอย่างใหม่อ้างอิงของประเทศที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าผลจะทราบไม่เกิน 1-2 วันนี้ หรือประมาณวันที่ 6 พ.ค.