พม.สรุปเยียวยาโควิด-19 กลุ่มเปราะบางในสังคม 8 ด้าน 27 มาตรการ

วันที่ 6 พฤษภาคม 2563 นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนกลุ่มเป้าหมาย พม. ตั้งแต่เด็กแรกเกิด เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม รวมทั้งผู้มีรายได้น้อย ดังนี้

“กลุ่มเป้าหมายเด็ก” มี 4 มาตรการ คือ

1.สนับสนุนนมผงสำหรับเด็กเล็ก โดยกองทุนคุ้มครองเด็กอนุมัติงบประมาณ 7.7 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนในเบื้องต้น ให้แก่แม่เด็กที่ประสบปัญหาตกงาน ไม่มีรายได้ ทั่วประเทศ

2.จัดเตรียมสถานที่รองรับเด็กที่ไม่มีผู้ดูแล กรณี พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ติดเชื้อโควิด

3.ศูนย์ให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ดำเนินการโดยบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้

4.เปิดตลาดนัดขายสินค้าออนไลน์ ผ่าน Facebook ได้แก่ “สภาเด็ก Market Place” โดยกลุ่มสภาเด็กและเยาวชน, “ฝากร้านคนพิการ” โดยกลุ่มคนพิการ และ “ตลาดนัดองค์กรชุมชน” โดยกลุ่มองค์กรชุมชน

“กลุ่มสตรีและสถาบันครอบครัว” มี 2 มาตรการ คือ 1.จัดบริการที่พักและการฝึกอาชีพสำหรับสตรี แม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ประสบปัญหาตกงานขาดรายได้ ไม่มีที่พักอาศัย พร้อมทั้งจัดทำหลักสูตรอาชีพระยะสั้น Online เผยแพร่ผ่าน YouTube

2.ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่ง จัดทำ Face Sheild มอบให้แก่โรงพยาบาล บุคลากรทางแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่มีความจำเป็น รวมทั้งสนับสนุนหน้ากากอนามัย ทั้งจากเครือข่ายภาครัฐและเครือข่ายหญิงไทยในประเทศต่างๆ

ที่ผ่านมา มีการส่งมอบให้คนไทยในประเทศญี่ปุ่น 1,400 ชิ้น, มอบให้คนไทยในประเทศเยอรมนี 1,500 ชิ้น, มอบให้เครือข่ายคนไทยในประเทศฟินแลนด์ 700 ชิ้น

“กลุ่มคนพิการ” มี 6 มาตรการ ได้แก่ 1.จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทุกคน คนละ 1,000 บาท จ่ายครั้งเดียว โดยใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

2.ครม. เห็นชอบในหลักการให้ปรับสวัสดิการเบี้ยความพิการ ให้แก่ผู้ถือบัตรประจำตัวผู้พิการ ที่อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 1.2 แสนคน จากเดือนละ 800 บาท เป็น 1,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป

3.เพิ่มเบี้ยคนพิการจาก 800 บาทต่อคนต่อเดือนเป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเสนอ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนพิการ โดยจะเริ่มจ่ายตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 ให้คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ

4.ให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการกู้ยืมเงินกองทุนฯ (เป็นกรณีพิเศษ) เพื่อการประกอบอาชีพในสภาวะวิกฤติ COVID – 19 วงเงินกู้ไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย และให้เริ่มชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนด 12 เดือน

5.พักชำระหนี้เงินกู้ให้แก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่กู้ยืมเงินจากกองทุนฯ เป็นระยะเวลา 12 เดือน (เมษายน 2563–มีนาคม 2564)

6.ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ จัดการฝึกอาชีพให้แก่ผู้พิการ ได้แก่ การฝึกอบรมออนไลน์ Upskill – Reskill สวนเกษตร (แปรรูปผลิตภัณฑ์)

“กลุ่มผู้สูงอายุ” มี 2 มาตรการ คือ 1.พักชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้สูงอายุที่กู้ยืมเงินจากกองทุนผู้สูงอายุ 12 เดือน (เมษายน 2563–มีนาคม 2564)

2.จัดเตรียมสถานที่รองรับสำหรับผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาไม่มีที่พักอาศัย

“กลุ่มคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และคนตกงาน” มี 2 มาตรการ คือ

1.จัดบริการที่พักสะอาดพร้อมบริการอาหาร 3 มื้อ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใน กทม. และทุกจังหวัดทั่วประเทศ

2.จัดทำคู่มือและสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เพื่อการป้องกันโรค สำหรับการดูแลกลุ่มเป้าหมาย ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง และคนเร่ร่อน เป็นต้น

“ด้านที่อยู่อาศัย” มี 3 มาตรการ ได้แก่ 1.พักชำระหนี้ที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โดยพักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) สำหรับลูกค้าเช่าซื้อ 33,346 ราย, การปลอดค่าเช่า 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) สำหรับลูกค้าอาคารเช่ารายย่อย

รวมทั้งลูกค้าที่เช่าแผงตลาดและร้านค้ารายย่อย และให้ส่วนลดค่าเช่าแผง 50% 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) สำหรับผู้เช่าร้านค้ารายย่อยในพื้นที่พลาซ่า หรือแผงตลาดที่ได้ทำสัญญาเช่ากับผู้เช่าเหมาบริหารพื้นที่กับ กคช.

ล่าสุด มีผู้สนใจมาลงทะเบียนสะสม 27,109 ราย (ณ วันที่ 29 เมษายน 2563) ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของ กคช.

และการจัดที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก (Quarantine Resident: QR) สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีข้อจำกัดด้านที่พักอาศัยและมีรายได้น้อย ดำเนินการร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการ COVID-19

3.พักชำระหนี้บ้านมั่นคงทั่วประเทศ ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. 3 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างการชำระหนี้ ครอบคลุมบ้านมั่นคง 500 กลุ่ม/องค์กร ซึ่งมีองค์กรเสนอพักชำระหนี้ 379 องค์กร

“ด้านการเงิน” มี 4 มาตรการ ได้แก่ ประกอบด้วย 1.ช่วยเหลือเงินอุดหนุนสงเคราะห์ให้แก่กลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ที่ได้รับผลกระทบฯ ตามระเบียบที่รับผิดชอบ โดยจัดสรรให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่

2.สถานธนานุเคราะห์ ขยายเวลาตั๋วรับจำนำจากเดิม 4 เดือน 30 วัน เป็น 4 เดือน 120 วัน (ขยาย 90 วัน) โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วงที่ขยายเวลา เงื่อนไขต้องมาลงทะเบียนที่สถานธนานุเคราะห์ทุกแห่งตั้งแต่วันนี้-31 พฤษภาคม 2563

และจำกัด1 คน ต่อ 1 สิทธิ์ ให้กับผู้ใช้บริการวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท ที่มีตั๋วรับจำนำตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม-31 มีนาคม 2563 ซึ่งมีลูกค้าที่ยังมีตั๋วที่ได้สิทธิ์อยู่ 79,013 คน มูลค่า 521 ล้านบาท

3.สถานธนานุเคราะห์ ลดดอกเบี้ยการรับจำนำเหลือ 0.125 บาทต่อเดือนสำหรับผู้ใช้บริการที่มาจำนำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน–31 พฤษภาคม 2563 ที่เงินต้นไม่เกิน 15,000 บาท คิดดอกเบี้ยเดือนละ 0.125% (จำกัด 1 คนต่อ 1 ตั๋วจำนำ 1 ใบ) โดยมีผู้มาจำนำที่ได้รับสิทธิ์จำนวน 12,681 คน รวมเป็นเงิน 90.76 ล้านบาท

4.โครงการธนานุเคราะห์มอบทุนการศึกษาแก่ผู้มีรายได้น้อย ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 39 แห่ง สาขาละ 3 ทุนๆ ละ 3,000 บาท รวม 117 ทุน (ขยายเวลาสมัครถึง 14 พฤษภาคม 2563)

“ด้านสวัสดิการ” มี 4 มาตรการ ได้แก่ 1.สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง 286 ชุมชนทั่วประเทศในความดูแลของ กคช. และ พอช. ภายใต้โครงการ พม. “เราไม่ทิ้งกัน” ตามแนวคิด “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน” เพื่อให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

2.ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 บริการ 24 ชั่วโมง โดยรับเรื่องราวร้องทุกข์และให้คำปรึกษาแนะนำแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเพิ่มจำนวนคู่สาย จาก 15 คู่สาย เป็น 60 คู่สาย, เพิ่มเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาจาก 30 คน เป็น 100 คน เพื่อเป็นการรองรับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ เฉลี่ย 14,000-19,000 สาย/วัน, หน่วยบริการประชาชนเคลื่อนที่ (Mobile Unit) โดยมีทีมนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)

3.มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในสถานรองรับของกระทรวง พม. ปลอดเชื้อ 100 %

4.หน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. 400 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (สนง.พมจ.) ทุกจังหวัด เครือข่ายองค์กรชุมชม ระดมจิตอาสาและ อพม. ร่วมกันผลิตหน้ากากผ้า เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้รับบริการของหน่วยงานกระทรวง พม. และประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ผลิตได้ทั้งสิ้น 1,744,191 ชิ้น ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2563

นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า พม. ยังได้เปิดศูนย์รับบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของจำเป็นเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนต่อไป รวมทั้งกิจกรรม “ร่วมส่งต่อความห่วงใยกับ พส.”

นอกจากนี้ ยังมีการจ้างเหมาบริการเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ สนง.พมจ. 238 อัตรา ปฏิบัติงานที่ สนง.พมจ. 76 จังหวัด และส่วนกลาง 5 เดือนอีกด้วย