โควิด-19 มีโอกาสระบาดซ้ำ สธ.เตือนคนไทยการ์ดอย่าตก

วันที่ 10 พฤษภาคม 2563 ที่ศูนย์แถลงความความคืบหน้า สถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 5 ราย เป็นผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 2 ราย พบที่จังหวัดนราธิวาส กรุงเทพฯ และเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเข้ากักตัวเฝ้าระวังในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) จำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ประเทศปากีสถาน 2 ราย)

นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากเปิดเมืองขณะนี้สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ลดน้อยลง ซึ่งในระยะการจัดการปัญหาโควิด-19 แบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 โรคมีการแพร่ระบาด ที่มีการแพร่ระบาดทั้งหมด 3 ระดับคือระดับที่ 1 ไม่มีผู้ป่วยหรือมีผู้ป่วยในวงจำกัดระดับที่ 2 คือการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ระดับที่ 3 คือการแพร่ระบาดระดับวิกฤต ต่อมาคือระยะที่ 2 สร้างภูมิคุ้มกัน และระยะที่ 3 ฟื้นฟู ดังนั้นทุกคนต้องรักษามาตรฐานลดการแพร่ระบาดให้ได้อย่างต่อเนื่อง ให้พบจำนวนผู้ติดเชื้อให้ต่ำที่สุด แต่ต่อให้มีผู้ป่วยน้อย ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยในประเทศเพียงจำนวนที่แจ้ง เนื่องจากโควิดมีอาการค่อนข้างน้อย จึงทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ มองว่าตนเองไม่มีอาการ จึงเป็นประเด็นสำคัญทำให้ สธ.ต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกในการค้นหาผู้ติดเชื้อมากขึ้น เพราะยังมีโอกาสที่จะกลับไปอยู่ในการระบาดระยะต่อเนื่องที่เป็นระยะวิกฤตได้หากประชาชนเริ่มไม่ระวังตนเองในการใช้ชีวิตเกิดความประมาท การ์ดตก คาดว่าโรคนี้จะคลายใจได้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลกควบคุมได้ หรือไทยมีวัคซีนขึ้นมาใช้ เราจึงจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะฟื้นฟู ที่จะต้องดำเนินการค้นหาปัญหาถอดบทเรียนจากวิกฤติครั้งนี้เพื่อนำไปป้องกันแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆในอนาคตเช่นยาเวชภัณฑ์อุปกรณ์ป้องกันตัว
โดยสธ. จัดทำแผนของทั้ง 3 ระยะเรียบร้อยแล้ว

การเปิดเมืองตอนนี้เป็นการเปิดเพื่อให้ภาคเอกชน ภาคธุรกิจเดินต่อไปได้ และทุกคนต้องระมัดระวัง และต้องปฎิบัติตัวให้เหมาะสม ซึ่ง สธ.คาดหวังว่าสังคมจะเปลี่ยนไปหากทุกคนให้ความร่วมมือ ใน 4 ประเด็นพื้นฐาน คือ

1.เรื่องการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หน่วยงานใดที่พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้ ควรอนุญาตให้ทำงานจากบ้านต่อไป ซึ่งอยากให้ทำให้ได้ 70% โดยกำหนดจำนวนคนที่สามารถเข้ามาทำงาน หรือเหลื่อมเวลาทำงาน รวมทั้งการจัดระเบียบโต๊ะทำงาน บรรยากาศในออฟฟิศให้ดีขึ้น ไม่ควรทำให้เกิดแออัด

2.การออกแบบทางวิศวกรรม ในสถานที่ต่างๆ ควรมีการระบายอากาศ ทำให้อากาศถ่ายเท ปิดแอร์ เปิดหน้าต่าง หรือติดพัดลมดูดอากาศ เครื่องกรองอากาศ หรือการป้องกันแพร่กระจายเชื้อโดยการใช้แผงกันป้องกันละอองฝอยน้ำลาย

3. ปรับปรุงระบบการทำงานของแต่ละองค์กร จะเห็นว่าการประชุมทางไกลก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการรวมกลุ่มประชุมกัน รวมถึงการเพิ่มการทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ต การเรียนรู้ทางไกล การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับปรุงระบบการทำงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนด้วย

4.อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด และใช้ช้อนกลางส่วนตัว

“ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อยากให้เป็น New normal ไม่ใช่การทำชั่วคราว ระยะสั้นๆ แต่อยากให้เป็นการปฏิรูปคิดปรับเปลี่ยนกระบวนการภายใน ซึ่งหากพิจารณาดีๆ จะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรทำแม้โควิดจะหมดไปก็ตาม เพราะทั้ง4ประเด็นไม่ได้ช่วยแค่เรื่องโควิด แต่ช่วยทั้งไข้หวัดใหญ่ โรคทางเดินหายใจอื่นๆ รวมไปถึงลดปัญหาจราจร และ PM 2.5 ด้วย”

อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการเปิดสถานที่ กิจการ ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เป็นการทำเพื่อให้เศรษฐกิจ ธุรกิจเดินต่อไปได้ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า เมื่อเปิดแล้วมีความกังวลว่า จะทำให้คนไปเดินจำนวนมาก ในภาวะเช่นนี้ไม่อยากให้คิดว่าการไปห้างคือการไปพักผ่อนแต่ควรมองว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงแก่ตนเองและคนรอบข้าง จึงอยากแนะว่าหากใครมีธุระจำเป็นที่ต้องไปซื้อจึงอยากให้รีไปรีบกลับ ไม่ควรอยู่นาน เดินเล่น หรือแฮงเอาท์ ขณะเดียวกันทางห้างต้องมีระบบการคัดกรองผู้ที่เข้ามา และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสให้มากที่สุด และคนที่เข้ามาใช้บริการ ก็ต้องให้ความร่วมมือ