กรมสุขภาพจิตเผยผลสำรวจ หลังคลายล็อก แพทย์-ประชาชน เครียดลดลง

วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์โชคโควิดระบาดแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ คลื่นลูกที่ 1 ช่วง 1-3 เดือนแรกที่มีโรคระบาด เป็นช่วงที่สร้างผลกระทบกับสุขภาพของคนและขีดความสามารถของโรงพยาบาล เพราะพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง คลื่นลูกที่ 2 ช่วง2-4 เดือนหลังเริ่มมีโรคระบาด เป็นช่วงที่ผู้ป่วยเร่งด่วนที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 มาใช้บริการ ซึ่งทำให้เกิดการ “ล้นทะลัก” เพราะให้บริการไม่เพียงพอ คลื่นลูกที่ 3 ช่วง4-9เดือนหลังเริ่มมีโรคระบาด เป็นช่วงที่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต้องกลับมาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์หรือรับการรักษา และคลื่นลูกที่ 4 ช่วง 2 เดือน ถึง 3 ปี หลังมีโรคระบาด ผลกระทบด้านเศรษฐกิจยังเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต คนมีความเครียด ซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย นอกจากนี้การให้บริการในภาวะวิกฤตมาอย่างยาวนาน ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจมีภาวะเหนื่อยล้า และหมดไฟ

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ได้มีการสำรวจผลกระทบโควิดผ่านการประเมินระดับความเครียดมาแล้ว 4 ครั้ง ในทุก 2 สัปดาห์ พบว่าช่วงแรกๆ กลางเดือนมีนาคมคนยังไม่เครียดมากนัก แต่เมื่อสำรวจครั้งที่ 2 และ 3 พบว่าคนเริ่มเครียดมากขึ้น โดยบุคลากรทางการแพทย์เครียดมากที่สุดถึง 9.7% ประชาชนเครียดมากที่สุดถึง 8.1% แต่ครั้งที่ 4 ความเครียดเริ่มลดลง จากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในเดือนพ.ค. บุคลากรการแพทย์มีเปอร์เซ็นต์ความเครียดลดลงกว่า 5.6% ขณะที่ประชาชนลดลงกว่า 2.9% ส่วนสถานการณ์ความเครียดในหลายประเทศทั่วโลกบางประเทศแถบยุโรป-อเมริกา ตัวเลขระดับความเครียดสูงถึง 45-50%

ทั้งนี้ ยังได้มีการเก็บสถิติอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย โดยอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายต่อแสนประชากร ไทยจะอยู่ที่ประมาณ 6 ต่อแสนประชากร ส่วนปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มีอัตราฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นไป เป็น 8 กว่าๆ ต่อแสนประชากร หลังจากนั้น 3 ปีค่อยๆ ลดลง และลดลงมาตลอด โดยปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 6 กว่าๆ ต่อแสนประชากร สำหรับปี 2563 หากไม่จัดการอะไรปล่อยให้ปัญหารุนแรงขึ้นไป อาจฆ่าตัวตายรุนแรง 8.8 ต่อแสนประชากร ส่วนปัจจุบันอยู่ที่ 6.6 ต่อแสนประชากร และกรมสุขภาพจิต จะร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ควบคุมตัวเลขไม่ให้เกิน 8 ต่อแสนประชากร โดยประชากรที่จะเข้าไปดูแลมี 4 กลุ่ม คือ 1. เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ 2. บุคลากรสาธารณสุขที่อาจเกิดภาวะหมดไฟได้ง่าย ขณะนี้เข้าไปดูได้ประมาณ 50% 3. ประชาชนทั่วไป และ 4. กลุ่มเปราะบางปัญหาสุขภาพจิต

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ส่วนแผนงานการดูแลสุขภาพจิต คือ 1. ลดผลกระทบด้านสุขภาพจิต ใน 3 เดือนจะมุ่งเป้าไปที่ปัญหาความเครียด หมดไฟ ซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย 2. เพิ่มภูมิคุ้มกันจิตใจ ให้พร้อมเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ เสริมสร้างพลังด้วยวัคซีนใจในระดับต่าง ๆ ได้แก่ วัคซีนใจในบุคคล วัคซีนใจในครอบครัว และวัคซีนใจในชุมชน