ไทย เร่งวิจัย-ผลิต ยาฟาร์วิพิราเวียร์ รักษาโควิด คาดต้นปี 65 จำหน่ายได้

องค์การเภสัชกรรม สำรองยารักษาโควิด 19 มากกว่า 4 แสนเม็ด รองรับโควิดระบาดซ้ำ พร้อมเร่งวิจัย-ผลิตฟาร์วิพิราเวียร์ (Favipiravir) คาดปี 64 พร้อมยื่นขึ้นทะเบียน และจำหน่ายได้ต้นปี 65

วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม ได้วางแผนบริหารจัดการเพื่อให้มียาที่จำเป็นสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด 19 ภายในประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในภาวะวิกฤติและระยะยาว ซึ่งมียาที่ใช้ร่วมกัน 7 รายการ โดยองค์การเภสัชกรรมผลิตเอง 5 รายการ ประกอบด้วย 1. ยาคลอโรควิน รักษาโรคมาลาเรีย สำรองไว้ 1.8 ล้านเม็ด 2. ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสม โลพินาเวียร์ และริโทรนาเวียร์ (Lopinavir / Ritonavir) สำรองไว้ 30.6 ล้านเม็ด 3. ยาต้านไวรัสเอดส์ดารุนาเวียร์ (Darunavir) สำรองไว้ 1.9 ล้านเม็ด 4. ยาต้านไวรัสเอดส์ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir) สำรองไว้ 1.9 ล้านเม็ด 5. ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย สำรองไว้ 3.4 ล้านเม็ด

ส่วนยาอีก 2 รายการคือ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ได้จัดซื้อจากผู้ผลิตในประเทศแล้ว 1.09 ล้านเม็ด และยาฟาวิพิราเวียร์ ( Favipiravir ) ซึ่งเป็นยาสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ในการรักษา อภ.และกรมควบคุมโรค ได้มีการจัดซื้อแล้ว 187,000 เม็ด จาก 2 แหล่งผลิตหลักคือบริษัท FUJIFILM Toyama Chemical Co.,Ltd.ประเทศญี่ปุ่นเจ้าของสิทธิบัตรและบริษัท Zhejiang Hisun Pharmaceutical Company ประเทศจีนซึ่งได้รับใบอนุญาตผลิตจากญี่ปุ่น โดยได้กระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วประมาณ 100,000 เม็ด ยังคงมียาสำรองในคลังของ อภ. ประมาณ 87,000 เม็ด และจะส่งมอบเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคมเพื่อสำรองไว้อีก 303,860 เม็ด (จากประเทศญี่ปุ่น 103,860 เม็ด ที่เลื่อนการส่งมอบมาจากในปลายเดือนเมษายน และส่งมอบจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 200,000 เม็ด) ซึ่งจะทำให้มียาฟาวิพิราเวียร์ใช้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

สำหรับความคืบหน้าการพัฒนายาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับ ขยายขนาดการผลิต โดยคาดว่าจะมีการผลิตกึ่งอุตสาหกรรมเองได้ต้นปี 2564 และนำไปศึกษาประสิทธิผลทางชีวสมมูล รวมถึงศึกษาการคงตัว และการละลายของยาเปรียบเทียบกับยาฟาร์วิพิราเวียร์ต้นแบบ ด้วยการนำยาที่พัฒนาขึ้นเองและยาต้นแบบไปให้อาสาสมัครสุขภาพดีรับประทานเข้าไปแล้วก็มีการเจาะเลือด เพื่อวิเคราะห์ ปริมาณยาในเลือดเพื่อประเมินว่า ยาฟาร์วิพิราเวียร์ 200 มิลลิกรัม ที่ผลิตเองกับยาต้นแบบมีการละลายและดูดซึมเข้ากระแสเลือดแตกต่างกันหรือไม่


“และช่วงหลังปี 2564 น่าจะรวบรวมข้อมูลพร้อมยื่นขอขึ้นทะเบียนยา และหากได้รับการขึ้นทะเบียนเรียบร้อย คาดว่าต้นปี 2565 จะผลิตเพื่อจำหน่ายได้ ถือเป็นการเตรียมการในระยะยาว เพื่อให้มียาฟาร์วิพิราเวียร์ผลิตเองสำรองไว้ใช้ เพราะโรคโควิด-19 อาจจะยังไม่หาย ดังนั้นในอีก 1 ปีข้างหน้าหากเกิดโควิดระบาดซ้ำ ยาที่ใช้รักษาจะเพียงพอ เพราะผู้ป่วย 1 ราย ที่ให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์ ในระยะการรักษาจะใช้ 70 เม็ดต่อราย”