เปิดลงทะเบียน“เว็บไทยชนะ” ให้ข้าราชการ-พนักงานออฟฟิศ

วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่จำนวนต่ำกว่า 10 ราย ต่อเนื่องมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค นั้นมีประสิทธิภาพ รวมถึงความร่วมมือเป็นอย่างดีของประชาชน และหน่วยงานทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ตามอาจพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากยังมีคนไทยจากต่างประเทศทยอยเดินทางเข้ามาทุกวัน ซึ่งรัฐบาลได้จัดสถานที่กักตัวเพื่อเฝ้าระวังควบคุมโรค (State Quarantine) ไว้รองรับ ดังนั้นยังไม่ทราบว่าจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในสถานที่ที่รัฐจัดให้อีกหรือไม่

นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ประสบความสำเร็จในการใช้พลาสมาของผู้ที่หายป่วยโควิด-19 มารักษาผู้ป่วยรายใหม่อาการรุนแรงสำเร็จนั้น หากติดตามข่าวสารจะมีการขอให้ผู้ที่หายป่วยจากโควิด มาบริจาคภายใน 60 วัน เพราะผู้ที่หายป่วย จนมีสุขภาพที่แข็งแรง จะมีภูมิคุ้มกัน สามารถไปที่สภากาชาดไทย หรือคลังเลือดในโรงพยาบาลทุกแห่ง แต่ทั้งนี้ระดับภูมิคุ้มกันของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความปลอดภัยหรือระดับภูมิคุ้มกัน ว่าถุงเลือดใดที่บริจาคมาแล้วจะใช้ได้ดี หรือไม่ดี ซึ่งจากความสำเร็จของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลอื่นๆ ที่เริ่มใช้พลาสมา ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

ต่อไปต้องมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพลาสมา ว่ามีประโยชน์อย่างไรบ้าง สามารถพัฒนาต่อเป็น อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับยา ถ้าหากสามารถรักษาหรือทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง สามารรถตอบสนองต่อการดูแลรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น เราก็จะเก็บข้อมูล และดูว่าโรงพยาบาลหลายแห่งที่ใช้พลาสมามีความสำเร็จในการใช้พลาสมาในระดับที่น่าพอใจหรือไม่ ต้องเรียนรู้กันไป เพราะถือเป็นเรื่องใหม่

ด้านนพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ว่า ขณะนี้มีคนไทยใช้ “ไทยชนะ” มากกว่า 5 ล้านคนแล้ว แต่ละวันมีผู้เข้าใช้ใหม่เกือบ 2 ล้านคน มีการเช็กอินเช็กเอาท์มากกว่า 4 ล้านครั้ง มีร้านค้าลงทะเบียนมากกว่า 6.8 หมื่นร้านค้า การเช็กอินเช็กเอาท์อยู่ที่ร้อยละ 70 แต่พบว่ามีอีกร้อยละ 20 กว่าที่ลืมเช็กเอาท์

นพ.พลวรรธน์ กล่าวอีกว่า การสแกนคิวอาร์โค้ดในแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ในระยะผ่อนปรน กับธุรกิจสีขาว สีเขียว เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสอบสวนโรค ค้นหาผู้ป่วยหากระบาดซ้ำ โดยข้อมูลนี้สามารถทำได้ง่ายเพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ด ระบบจะจดจำเบอร์โทรศัพท์ และบันทึกช่วงเวลาของการทำกิจกรรม หรือเข้าใช้บริการกิจการ แต่ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากระบบไทยชนะเป็นระบบปิด เมื่อสแกนข้อมูลจะเป็นความลับ ไม่ถูกเอามาใช้ ข้อมูลทั้งหมดจะส่งมาให้กรมควบคุมโรค (คร.) จะใช้ก็ต่อเมื่อมีโรคเกิดขึ้นแล้วเอามาติดตาม เพื่อหาย้อนกลับว่าคนที่ติดโรคไปที่ใดบ้าง

ทั้งนี้ ยังได้มีข้อสรุปว่า อยากจะให้ส่วนของราชการนำระบบไทยชนะเข้าไปใช้ด้วย ทั้งส่วนราชการขนาดใหญ่ และหน่วยงานย่อย เพื่อให้ทราบว่าเข้ามาแล้วไปตรงไหน อย่างกระทรวงสาธารณสุขมีขนาดใหญ่มาก แม้แต่จะเข้ามาในห้องประชุมก็ต้องสแกน เชื่อว่ายิ่งมีจุดให้เช็กอินเยอะก็จะติดตามได้ละเอียดมากยิ่งขึ้นก็ยิ่งดี

อย่างไรก็ตาม นอกจากส่วนราชการที่จะเปิดให้ลงทะเบียนได้เพิ่ม ก็จะมีกลุ่มบริษัท ออฟฟิศ ขนาดเล็ก ใหญ่ รวมถึงขนส่งสาธารณะ จะเปิดระบบให้ลงทะเบียนภายใน 1-2 วันนี้ ในส่วนของขนส่งสาธารณะ อย่างรถไฟฟ้าคงยังไม่ได้เปิดลงทะเบียนในไทยชนะ เพราะเป็นเรื่องยาก เพราะต้องเช็กอินเช็กเอาท์เยอะ จะกลายเป็นอุปสรรคในการเดินทาง หากจะทำก็ต้องดูความเหมาะสมต่อไป