“คมนาคม-คลัง” ชิงเหลี่ยมคุม “การบินไทย” 26 พ.ค. ยื่นศาล

“คมนาคม-คลัง” ชิงเหลี่ยมกุมบริหารช่วงฟื้นฟู “การบินไทย” นายกฯ ส่ง “วิษณุ” หย่าศึก ผุดคณะทำงานเป็นซูเปอร์บอร์ดกลั่นกรอง “ศักดิ์สยาม” ชง 4 รายชื่อ เผย 26 พ.ค. ดีเดย์ยื่นคำร้องฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายกลาง เปิดผลศึกษาบริษัทที่ปรึกษาแนะเขย่าสูตรโละพนักงาน 40% เหลือ
1.2 หมื่นคน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ บมจ.การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยศาลล้มละลายเมื่อ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้คลังลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% เพื่อแปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน ทำให้อำนาจทั้งหมดไปอยู่ที่คณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย และผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กระทรวงการคลัง เว้นแต่กระทรวงการคลังจะขอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ ครม. มอบให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้กำกับดูแลแผนฟื้นฟูการบินไทย

“เมื่อคลังลดสัดส่วนถือหุ้น ทำให้คมนาคมไม่มีอำนาจกำกับการบินไทย ได้เสนอให้คลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ทำหนังสือมอบฉันทะให้กระทรวงคมนาคมดูแล เหมือนกรณีบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. โดยคลังตอบกลับมาว่า จะใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เสนอประเด็นดังกล่าวเอง และขอหารือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งนายกฯให้ตนและนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง หารือร่วมกัน โดยคมนาคมจะเสนอรายชื่อ 4 รายชื่อ เป็นคณะทำงาน”

นายกฯมอบ “วิษณุ” หย่าศึก

จากความเห็นไม่ตรงกัน นายกฯจึงให้ 2 กระทรวงหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เมื่อ 21 พ.ค. พร้อมกับสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดกลั่นกรองประเด็นต่าง ๆ ก่อนเสนอให้นายกฯพิจารณา โดย 4 รายชื่อที่จะเสนอเข้าไปเป็นคณะทำงานของรองฯวิษณุ เพื่อร่วมเสนอและกลั่นกรองรายชื่อคณะผู้ทำแผนก่อนเสนอนายกฯ และกำหนดแผนงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง มี 1.นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม 2.นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม 3.นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ

อย่างไรก็ตาม ให้การบ้านกับฝ่ายบริหารและบอร์ดการบินไทย 5 ข้อ 1.จัดทำบัญชีทรัพย์สิน และบัญชีหนี้สิน 2.จัดทำร่างทีโออาร์จ้างที่ปรึกษาการเงินและกฎหมาย 3.ทำแผนการบริหารสภาพคล่อง 4.ให้ฝ่ายบริหารให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลต่อคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารงานกิจการ และปัญหาการทุจริต และ 5.เสนอบัญชีรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนและผู้บริหารแผน

จี้ “บินไทย” ส่งรายชื่อผู้ทำแผน

“รายชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟู การบินไทยแจ้งว่าวันที่ 24 พ.ค.จะนำรายชื่อเสนอมาที่ตน ก่อนเสนอคณะทำงานรองฯวิษณุ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเสนอมากี่คน ส่วนท่านนายกฯจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็แล้วแต่ดุลพินิจ”

เรื่องสภาพคล่อง ทางคณะทำงานของรองฯวิษณุจะเป็นผู้เสนอแนวทางกับนายกฯเอง อีกทางหนึ่งตนให้บอร์ดและรักษาการดีดีไปคุยกับพนักงานแผนฟื้นฟูจะพาองค์กรไปในทิศทางไหน ขอให้คิดบนความจริงด้วยว่า การจะได้เงินเดือนและผลตอบแทนเต็ม ๆ แบบเดิมทำได้หรือไม่ ตอนนี้การบินไทยมีสภาพคล่องเหลืออยู่ 10,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสูงสุดรวมทุกรายการ 6,000 ล้านบาท/เดือน ด้านการปลดพนักงาน 6,000 คน เพื่อลดค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องคณะทำแผนฟื้นฟูจะพิจารณา

เตรียมชี้แจงพนักงาน-สหภาพ

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บมจ.การบินไทย เปิดเผยว่า ก่อนวันที่ 29 พ.ค.นี้ จะประชุมชี้แจงต่อพนักงานและสหภาพแรงงานการบินไทยให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลง สถานภาพ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของบริษัทจะเป็นยังไง หลังหลุดจากรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 เป็นบริษัทมหาชน ภายใต้ พ.ร.บ.แรงงาน อยู่ระหว่างรอฝ่ายกฎหมายไล่เคลียร์ประเด็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับสถานะองค์กรจะเป็นยังไงต่อไป เช่น ต้องจดทะเบียนใหม่หรือทำอะไรเพิ่มหรือไม่

หั่นเงินเดือน 10-50%

สำหรับในแผนฟื้นฟูจะต้องทำทุกเรื่อง เช่น การเพิ่มทุน ปรัลลดพนักงาน การทำแผนธุรกิจเพิ่มรายได้ ทิศทางของไทยสมายล์ และต้องเป็นแผนฟื้นฟูที่ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ซึ่งคีย์สำคัญจะทำให้แผนฟื้นฟูการบินไทยประสบความสำเร็จเร็วหรือช้า อยู่ที่ผู้ทำแผน และผู้บริหารแผน

นายจักรกฤศฏิ์กล่าวอีกว่า ขยายเวลาการปรับลดเงินเดือนผู้บริหารและพนักงานเฉลี่ย 10-50% ออกไปไม่มีกำหนด จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.นี้ รวมถึงเจรจาเจ้าหนี้ขอยืดเครดิตการชำระหนี้ที่จะครบดีล จากมูลหนี้ทั้งหมดกว่า 2 แสนล้านบาท ส่วนการปรับลดพนักงาน คาดว่าจะดำเนินการในช่วงเข้าฟื้นฟูไปแล้ว โดยผู้ทำแผนจะเป็นผู้กำหนด

แหล่งข่าวจากคมนาคมเปิดเผยเพิ่มเติมว่า การปรับลดพนักงานคงจะไม่มีการเปิดให้สมัครใจออก เนื่องจากมีภาระค่าชดเชยจำนวนมาก

ชี้คลังไม่แทรกแซงขายหุ้นบินไทย

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ประเด็นเรื่องราคาหุ้น บมจ.การบินไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลอยู่แล้วซึ่งการขายหุ้นการบินไทยในส่วนของกระทรวงการคลัง เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะขายให้นักลงทุนรายเดียว คือ กองทุนรวมวายุภักษ์ เพื่อลดสถานะการบินไทยออกจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวขึ้น เนื่องจากกองทุนวายุภักษ์เป็นนิติบุคคล ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ คลังลงทุนในกองทุนวายุภักษ์เพียง 15% ส่วนประเด็นขายหุ้นราคาต่ำกว่าต้นทุนที่ซื้อมานั้น เป็นเรื่องที่บอร์ดกองทุนวายุภักษ์จะพิจารณา

สภาพคล่องอยู่ได้ถึงตอนยื่นศาล

สภาพคล่องระยะสั้นของการบินไทยปัจจุบันยังมีอยู่ และระยะสั้นอยู่ได้ถึงขั้นตอนการยื่นศาลล้มละลายกลาง เพื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟู เมื่อศาลเห็นชอบและแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟู ผู้บริหารแผนจะเข้ามาดูแลทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องการเจรจากับเจ้าหนี้

“การคัดเลือกผู้บริหารแผนจะเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคมนาคมแล้ว กระแสข่าวว่ามีการคัดเลือก นายชาติชาย พยุหนาวีชัย นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ฯลฯ เข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู ตนไม่ทราบ และไม่ได้วางตัวใครไว้”

คลังเร่งโอนหุ้น 26 พ.ค. ยื่นศาล

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า คลังกับกองทุนรวมวายุภักษ์ได้ทำรายการซื้อขายหุ้น บมจ.การบินไทย เมื่อ​ 22 พ.ค.ที่​ผ่าน​มา ทำให้การบินไทยสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากสัดส่วนหุ้นที่ภาครัฐ คือ คลังรวมกับรัฐวิสาหกิจ (ธนาคารออมสิน) ต่ำกว่า 50% พนักงานการบินไทยจะสิ้นสภาพการจ้างจากการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจลงทันที จากนั้นภายใน​ 26 พ.ค. จะยื่นคำร้องขอฟื้นฟู และเสนอตัวเองเป็นผู้ทำแผนต่อศาล โดยการบินไทยจะตั้งคณะทำงานเจรจาเจ้าหนี้ซึ่งต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจว่าจะเลือกใครบ้าง

ลดพนักงาน 50% หยุดเลือดไหล

ในส่วนของการปรับโครงสร้างองค์กรที่มีข่าวว่าจะลดพนักงาน 30% นั้น คงไม่เพียงพอที่จะหยุดเลือดไม่ให้ไหลต่อ แต้องปรับลด 50% หรืออย่างน้อย 10,000 คน โดยเฉพาะตำแหน่งนักบินที่มีอยู่มากกว่า 1,000 คน จนเกินพอดี ขณะที่แอร์โฮสเตสมี 7,000-8,000 คน การชดเชยต้องเหมาะสมเป็นไปตามมาตรฐานธุรกิจการบิน ต้องเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์จูงใจพนักงานด้วย

“การปรับโครงสร้างพนักงานต้องทำอย่างมีเหตุมีผล จ่ายไม่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งตามธรรมเนียมควรเป็นไปตามมาตรฐานธุรกิจการบิน อย่างน้อยต้องมากกว่าที่กฎหมายกำหนด 2 เท่า โดยเงินที่จะจ่ายสำรองไว้อยู่แล้ว”

เปิดผลศึกษาลดคน 40%

แหล่งข่าวจาก บมจ.การบินไทยเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้บริหารของบริษัทได้มอบหมายให้แต่ละส่วนงานทำการศึกษาเพื่อหาแนวทางลดขนาดองค์กรทั้งในด้านบุคลากร ฝูงบินที่เหมาะสมและสอดรับกับสภาพตลาดปัจจุบัน และแผนการฟื้นฟูที่กำลังจะเกิดขึ้น เบื้องต้นพบว่า บริษัทควรปรับลดจำนวนพนักงานทั้งหมด 40% จากปัจจุบันมีอยู่ 21,367 คน เหลือ 12,000-13,000 คน ลดลง 8,000 คน ภายใน 2-3 ปีนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับสายการบินอินเตอร์ชั้นนำของโลก

ขนาดฝูงบินปัจจุบัน การบินไทยมีฝูงบินราว 100 ลำ ตามแผนจะลดเหลือ 70 ลำ พร้อมลดจำนวนแบบเครื่องบินให้น้อยลงเหลือ 6 แบบ อาทิ แอร์บัส A320, แอร์บัส A330, แอร์บัส A350, โบอิ้ง B777-200 ER และ B777-300 ER ให้ง่ายต่อการบริหารจัดการต้นทุนและสอดรับกับเรื่องของดีมานด์-ซัพพลายของตลาดในอนาคต

“การคำนวณจำนวนคนทำงานจะเทียบกับมาตรฐานของสายการบินชั้นนำทั่วไปที่ใช้นักบิน 18 คนต่อลำ กรณีสิงคโปร์แอร์ไลน์ใช้เฉลี่ย 17.5 คนต่อลำ หากเทียบกับการบินช่วงก่อนโควิดที่ยังบิน 100 ลำ เราจะใช้จำนวนนักบิน 14.3 คนต่อลำ แต่หลังปรับโครงสร้างแล้วเหลือฝูงบิน 70 ลำ หากเทียบค่ามาตรฐานทั่วไปที่จำนวน 80 คนต่อลำ เรามีความจำเป็นต้องการนักบินที่ 1,260 คน เท่ากับส่วนของนักบินต้องตัดออก 170-200 คน”

ขณะที่ส่วนของลูกเรือ ปัจจุบันมีพนักงานรวม 5,749 คน อยู่ในอัตราที่ไม่สูงเกินไป เนื่องจากกฎระเบียบขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) และมาตรฐานความปลอดภัยการบินยุโรป (EASA) ขององค์การบินของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้ลูกเรือ 1 คน ไม่สามารถให้บริการหรือทำการบินได้เกิน 3 แบบเท่านั้น บวกกับจำนวนแบบเครื่องบินก่อนหน้านี้ของการบินไทยที่มีหลายแบบ จึงจำเป็นต้องใช้ลูกเรือจำนวนมาก

คนล้นทั้งแบ็กออฟฟิศ-ฝ่ายช่าง

แหล่งข่าวกล่าวว่า แผนกที่เป็นประเด็นปัญหาและน่าจะลดลงได้อีก คือ ฝ่ายช่าง ปัจจุบันมี 3,461 คน ดูแลเครื่องบินรวม 250 ลำต่อปี เป็นเครื่องบินของการบินไทย 100 ลำ และของคู่ค้า 150 ลำ เฉลี่ยใช้ช่าง 13.8 คนต่อลำ เทียบกับสายการบินลุฟท์ฮันซ่ามีช่างราว 6,000 คน ดูแลเครื่องบินทั้งหมด 900 ลำ ใช้ช่าง  6.6 คนต่อลำ ที่สำคัญการบินไทยมีค่าใช้จ่ายค่าล่วงเวลาให้ฝ่ายช่างเฉลี่ยปีละ 1.6 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ที่น่าจะลดพนักงานได้มากที่สุดถึง 50% คือ ส่วนงานธุรกิจ สำนักงาน และทั่วไป ที่ปัจจุบันมีพนักงาน 10,725 คน

“สายการบินหลายแห่งจะรวมพนักงานทั่วไปกับฝ่ายช่างไว้ด้วยกัน มีมาตรฐานการใช้พนักงานส่วนนี้เฉลี่ยไม่ถึง 100 คนต่อลำ เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์อยู่ที่ 80 คนต่อลำ ในโครงสร้างใหม่เราจะมีเครื่อง 70 ลำ ดังนั้นต้องทำให้พนักงานส่วนนี้เหลือ 5,000-6,000 คน”

นอกจากนี้ หากปรับลดส่วนต่าง ๆ แล้วยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะใช้วิธีตัดพนักงานระดับบนและระดับล่าง คือ เลือกเลิกจ้างกลุ่มพนักงานอายุตั้งแต่ 57-58 ปีขึ้นไป พนักงานใหม่และที่ยังไม่ผ่านการทดลองงาน เป็นต้น

เปิดน่านฟ้า 30 เส้นทาง 1 ก.ค.


แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากปรับโครงสร้างขนาดองค์กรแล้ว ยังได้เตรียมความพร้อมสำหรับเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ (internation) โดยได้กำหนดวันดีเดย์การกลับมาให้บริการอีกครั้ง ทั้งเส้นทางบินในเอเชียและยุโรป รวมราว 30 เส้นทางหลัก ในวันที่ 1 ก.ค.นี้