เพิ่มงบบัตรทอง 1.4 หมื่นล้าน เตรียมรับคนตกงาน 9.9 แสนคน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการหารือครั้งแรกของบอร์ด สปสช.วาระ พ.ศ.2563-2567 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ ข้อเสนอการขอรับงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับปี 2563-2564 จากผลกระทบกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ภายใต้งบเงินกู้ 45,000 ล้านบาท ที่ สธ.ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล  

นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563-2564 ต้องปรับงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อรองรับดูแลประชาชนให้เข้า  ถึงบริการสุขภาพกรณีโควิด-19 ที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง พร้อมสนับสนุนหน่วยบริการดำเนินการตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในการให้บริการประชาชน ทั้งบริการกรณีรักษาโควิด-19 และบริการกรณีอื่น เพื่อลดการติดต่อและการแพร่ระบาดของโรคตามมาตรการบริการที่กำหนดโดยกรมการแพทย์ รวมถึงกรณีการว่างงานของประชากรที่รับผลกระทบและจะโอนมาใช้สิทธิบัตรทอง โดยปีงบประมาณ 2563 ขอรับการสนับสนุน จำนวน 2,201.58 ล้านบาท เพิ่มเติมจากงบประมาณกรณีโควิด-19 ที่รัฐบาลจัดสรรก่อนหน้านี้ 4,280.12 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2564 สนับสนุนเพิ่มเติมอีก 12,643.84 ล้านบาท รวมงบประมาณที่ต้องขอรับจัดสรรจากรัฐบาลเพิ่มเติมทั้งสิ้น 14,845.42 ล้านบาท หลังจากนี้จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

“ทั้งนี้งบประมาณข้างต้นนี้ แยกเป็นบริการกรณีโควิด-19 จำนวน 11,474.72 ล้านบาท แยกเป็นงบที่เพิ่มเติมในปี 2563 จำนวน 2,122.41 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 9,352.31 ล้านบาท ครอบคลุมบริการส่งเสริม  สุขภาพและป้องกันโรค ทั้งตรวจคัดกรองกลุ่มเป้าหมายตามมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กำหนด บริการโรงพยาบาลสนาม หรือใน Hospital Quarantel เฉพาะกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และบริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ส่วนบริการรักษาพยาบาลได้เพิ่มเติมงบบริการผู้ป่วยใน บริการโรงพยาบาลสนาม หรือใน Hospitel เฝ้าระวังการติดเชื้อก่อนกลับบ้าน และบริการรับส่งต่อผู้ป่วยของหน่วยบริการเฉพาะกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19″ รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าว 

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนบริการอื่นได้เสนอเพิ่มเติมเป็นจำนวน 4,455.02 ล้านบาท แยกเป็นงบเพิ่มเติมในปี 2563 จำนวน 79.17 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 4,375.85 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนำร่องบริการสาธารณสุขทางไกลและระบบการแพทย์ทางไกล (Telehealth/Telemedicine) ในหน่วยบริการที่มีความพร้อม บริการส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยที่บ้านทางไปรษณีย์เฉพาะผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ขยายเพิ่มเติมปี 2564 จากโครงการปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563

นายอนุทิน กล่าวว่า บริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับร้านยา หรือ “โครงการรับยาใกล้บ้าน” เพิ่มเติมจัดบริการในรูปแบบที่ 3 ให้ร้านยาสำรองยาเองร่วมกับองค์การเภสัชกรรม เพิ่มจำนวนบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปี 2564 จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คาดว่าจะมีความต้องการของกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นประมาณ 2.36 ล้านราย จากเดิมที่มีจำนวน 4.16 ล้านราย และบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกหน่วยบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน ไม่ต้องเดินทางมารับบริการที่โรงพยาบาล โดยครอบคลุมรวมถึงบริการเจาะเลือดและขนส่งตัวอย่าง ประมาณการณ์ปี 2564 มีจำนวนบริการ 941,700 ครั้ง อัตราค่าบริการ 200 บาทต่อครั้ง เป็นงบประมาณ 188.34 ล้านบาท   

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ได้เพิ่มการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหาย ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 เห็นชอบปรับอัตราจ่ายเงิน          ช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการกรณีโควิด19 จำนวน 2 เท่าจากอัตราเดิม และจำนวนผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยปี 2563 ของบสนับสนุนเพิ่มเติม 60.47 ล้านบาท และปี 2564 ขอเพิ่มเติมอีก 87.39 ล้านบาท และเพิ่มเติมงบประมาณรองรับการเพิ่มจำนวนของผู้มีสิทธิบัตรทองจากภาวะว่างงาน โดยปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 990,750 คน ย้ายมาจากสิทธิประกันสังคมเหตุว่างงาน ซึ่งได้คำนวณจากอัตราเหมาจ่ายรายหัวตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 จำนวน 3,719.23 บาทต่อผู้มีสิทธิ รวมเป็นงบประมาณที่ต้องเพิ่มเติ3,684.82 ล้านบาท  

“บอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบหลักการตามข้อเสนอนี้ พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องเกณฑ์ราคาค่าบริการในบางรายการ เช่น ค่าตรวจเชื้อห้องปฏิบัติการ ค่าชุดป้องกันการติดเชื้อ เป็นต้น โดย สปสช.จะนำไปทบทวนราคาเพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะที่รายการบริการใหม่ในรูปแบบ New Normal ทั้งระบบการแพทย์ทางการ การส่งยาไปรษณีย์ รับยาใกล้บ้าน จะมีการติดตามการดำเนินการและประเมินประสิทธิผล นอกจากนี้จะมีการทบทวนงบประมาณในรายการบริการที่ลดลงจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิ-19 ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงการกระจายงบประมาณปี 2564 ต่อไป” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์