กินซูชิต้องระวัง! กทม.สุ่มตรวจ ‘ร้านอาหารญี่ปุ่น’ พบมีเชื้อโรคระบบทางเดินอาหาร 11 ร้าน

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยความปลอดภัยด้านอาหาร ในซูชิหน้าอาหารดิบ โดยดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างซูชิหน้าอาหารดิบ ปลาดิบ หอยดิบ ปลาหมึกดิบ ไข่กุ้ง ปลาซาบะดอง ปูอัดและหน้าสาหร่าย จากร้านอาหารญี่ปุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ 293 ตัวอย่างเพื่อหาเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร 4 ชนิด ประกอบด้วย 1.สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) 2.ซาลโมเนลลา (salmonella spp.) 3.วิบริโอ โคเลอรี (Vibrio cholera) หรือโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง และ 4. วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) ปีละ 2 ครั้ง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างครั้งแรก ระหว่างเดือนธันวาคม 2559 – กุมภาพันธ์ 2560 และครั้งที่ 2 ระหว่างเดือนมีนาคม 2560 – พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งจากผลการสุ่มตรวจร้านขนาดใหญ่ในอาคารจำนวน 51 แห่ง พบเชื้อ 2 แห่ง ร้านขนาดเล็กในอาคารจำนวน 135 แห่ง พบเชื้อ 4 แห่ง ซุ้มหรือแผงลอยในอาคาร 70 แห่ง พบเชื้อ 5 แห่ง และซุ้มแผงลอยในตลาดและบาทวิถี 37 แห่ง ไม่พบเชื้อ สรุปผลร้านอาหารญี่ปุ่นติดเชื้อทั้งสิ้น 11 แห่ง

ผลการสำรวจพบว่า ร้านอาหารบางส่วนขาดการบริหารจัดการระบบการสุขาภิบาลที่ดี เช่น ซูชิที่จำหน่ายจัดวางในตู้โชว์ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 5 องศาเซลเซียส ซึ่งตามหลักแล้วต้องอยู่ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส และมีการปั้นเตรียมรอไว้ขายนานเกิน 2 ชั่วโมง รวมทั้งผู้สัมผัสอาหารไม่ผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารที่กรุงเทพมหานครกำหนด และไม่ตรวจสุขภาพประจำปีครบ 9 โรค อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่องสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ.2545 และ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ โดยขั้นตอนต่างๆ ในการเก็บรักษาวัตถุดิบ การประกอบ ปรุง และจำหน่ายซูชิเป็นปัจจัยในการส่งเสริมให้เกิดการปนเปื้อน และเร่งให้เชื้อเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม กองสุขาภิบาลอาหาร จะนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำเป็นแนวทางจัดการสุขาภิบาลอาหารและป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ให้กับผู้ประกอบการร้านจำหน่ายซูชิ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้สัมผัสอาหารเข้ารับการอบรมหลักสูตรสุขาภิบาลอาหารที่กรุงเทพมหานครกำหนดเพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักสุขาภิบาลอาหารที่ถูกต้องต่อไป

 

ที่มา  มติชนออนไลน์