ต่อลมหายใจเอสเอ็มอีฟื้นเศรษฐกิจ

การปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งล่าสุด นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยชี้ว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงร้อยละ 5 และมีคนตกงานเพิ่มขึ้น 8.3 ล้านคน แม้น่าตกใจ แต่สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของสำนักงานประกันสังคมที่ประเมินว่า จากนี้ไปจะมีการเลิกจ้าง ทำให้คนว่างงานเพิ่มอีก 7-8 ล้านคน

ในจำนวนดังกล่าว ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวและบริการ กับผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก หรือเอสเอ็มอี ซึ่งกระจายอยู่หลากหลายอุตสาหกรรม จะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยรุนแรงสุด แถมถูกซ้ำเติมจากวิกฤตส่งออก วิกฤตท่องเที่ยว ทำให้สถานะทางการเงินที่่อ่อนแอเปราะบางยิ่งกระทบหนัก

สารพัดมาตรการที่หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือเยียวยา อาทิ ลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา การลดหย่อนภาษี การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) การขยายระยะเวลาชำระหนี้ พักเงินต้น ผ่อนภาระดอกเบี้ย ฯลฯ แม้จะทยอยออกมาต่อเนื่อง แต่ถมเท่าใดก็ยังไม่เต็ม เพราะในความเป็นจริง เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึง

โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กซึ่งมีอยู่จำนวนมาก จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งประเทศ 3 ล้านราย ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากยอดขายของธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งระบบมีมูลค่าสูงถึงกว่า 43% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และมีการจ้างงานราว 14 ล้านคน หรือกว่า 85% ของการจ้างงานทั้งระบบ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และผลักดันออกมาช่วยเหลือลูกหนี้หลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอีที่กำลังเผชิญวิกฤตหนี้-รายได้ โดยแบงก์ชาติเป็นตัวกลางในการประสานการเจรจาระหว่างเอสเอ็มอีกับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งช่วยผ่อนภาระผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กได้มาก แม้จะไม่ครอบคลุมกลุ่มที่มีปัญหาความเดือดร้อนทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ที่ต้องทำควบคู่กับการเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือเยียวยา คือเร่งยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ให้เอสเอ็มอียืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจที่มีอนาคต ผลิตสินค้าที่สอดรับกับความต้องการของตลาด ในยุคที่กระแสโลกและพฤติกรรมของผู้บริโภคปรับเปลี่ยนรวดเร็ว

ปิดจุดอ่อน สร้างจุดแข็ง ด้วยการแก้ปัญหาด้านต้นทุนและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาการผลิตและตัวโปรดักต์ โดยโฟกัสที่คุณภาพ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนการแข่งขันด้านราคา ยกชั้นเอสเอ็มอีไทยให้ก้าวขึ้นแถวหน้า หนุนเศรษฐกิจฐานราก ภาคการผลิตและส่งออก เศรษฐกิจไทยจึงจะเติบโตขยายตัว และมีภูมิคุ้มกันท่ามกลางวิกฤต