นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า คาดว่าในช่วงวันที่ 2-6 ต.ค. 2560 บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ 3 ต.ค. 2560 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 56,574 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 75% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,303 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 32,755 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% สามารถรองรับน้ำได้อีก 18,644 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,431 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 70% ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 2,618 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,735 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 59% (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 8,117 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 7,440 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (3 ต.ค.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,853 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.28 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,306 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งบริเวณเหนือเขื่อนได้รับน้ำเข้าสู่คลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รวมทั้ง 2 ฝั่งวันละประมาณ 560 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำที่อยู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เข้าระบบชลประทานให้มากที่สุดตามศักยภาพของพื้นที่ ก่อนจะกระจายน้ำบางส่วนไปเก็บไว้ในทุ่งแก้มลิงต่างๆ ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดปริมาณน้ำจำนวนมากที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา
ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น ในช่วงวันที่ 2-6 ต.ค. 2560 กรมชลประทานได้ให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ กำชับเจ้าหน้าในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้ตรวจสอบระบบชลประทาน อาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้เต็มศักยภาพ ตามสถานการณ์น้ำที่เป็นจริงในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องมืออื่นๆ เตรียมพร้อมไว้ด้วยแล้ว
ทั้งนี้ ได้ให้ทุกโครงการชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด รวมไปถึงฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำ พร้อมกับให้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศที่อาจจะเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดด้วย
นายทองเปลว กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กรมชลประทานได้ส่งเสริมให้ทำการเพาะปลูกไปก่อนแล้วและอยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก นั้น ได้มอบหมายให้โครงการชลประทานในพื้นที่บูรณาการร่วมกับจังหวัด ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดำเนินการประชุมชี้แจงเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ ให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง โดยให้ไปทำการเพาะปลูกพร้อมกันในช่วงต้นฤดูแล้งปี 2560/61
นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกโครงการเตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และเครื่องผลักดันน้ำ ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ เพื่อให้สามารถนำไปช่วยเหลือประชาชน เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิดด้วย
ที่มา ข่าวสดออนไลน์