ชงเบี้ยวค่าเลี้ยงดูบุตร เพิ่มโทษเป็นกม.อาญา

นายวันชัย รุจนวงศ์ อัยการอาวุโส กล่าวในการเสวนาประชาพิจารณ์ “ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ…. จัดโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี ว่า คู่สมรสที่หย่าร้างและมีการทำข้อตกลงหรือมีคำพิพากษาให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลี้ยงดูบุตร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายมารดา ขณะที่อีกฝ่ายต้องจ่ายค่าเลี้ยงดู แต่ปัญหาที่พบจำนวนมากคือ เมื่อจ่ายค่าเลี้ยงดูไปสักพักก็จะหลีกเลี่ยง ส่งผลต่อการเจริญวัยของเด็ก การฟ้องร้องบังคับคดีที่ผ่านมาเป็นเพียงคดีทางแพ่งโดยศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นภาระอย่างมากกับฝ่ายเลี้ยงดูหรือผู้เป็นแม่ในการฟ้องร้อง คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กจึงได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ…. มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 307/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดผู้ใดมีหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งได้มีคำพิพากษา หรือสัญญาหย่า ให้ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อการเลี้ยงดูบุตร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 308 กรณีกระทำความผิดตามมาตรา 306, 307 หรือ 307/1 เป็นเหตุให้บุตรถึงแก่ความตายหรือได้รับอันตรายสาหัส ก็ต้องมีโทษฐานทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตหรือรับอันตรายสาหัสโดยไม่เจตนา ต้องระวางโทษที่บัญญัติในมาตรา 290, 297 หรือ 298 การปรับแก้กฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาจะเอาผิดใครเข้าคุก เพียงแต่อาศัยกลไกรัฐมาช่วยเหลือดูแลเด็กเท่านั้น

ด้านนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้ชำนาญการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า แม้มาตรการทางกฎหมายไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นช่องทางทำให้เกิดกระบวนการดูแลเด็กตามสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางสังคม การศึกษา และหน่วยบริหารงานต่างๆ

 


ที่มา : มติชนออนไลน์