ไปต่อไม่ไหว! บริษัทเรือเร็วเลิกจ้าง 100 พนักงาน โวยบริษัทเบี้ยวเงินชดเชย

ไปต่อไม่ไหว! บริษัทเรือเร็วเลิกจ้าง 100 พนักงาน โวยบริษัทเบี้ยวเงินชดเชย รวมตัวกันร้องเรียนสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน

วันที่ 3 สิงหาคม 253 ข่าวสดรายงานว่า อดีตพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจากบริษัท เรือเร็วลมพระยา จำกัด สาขาชุมพร จำนวน 25 คน นำสัญญาข้อตกลงการจ่ายเงินค่าชดเชยกับบริษัทฯ เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อนางศิริพร สินสุภา นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ ผู้ช่วยสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชุมพร หลังจากถูกลิกจ้างแล้วบริษัทฯ ผิดสัญญาตามข้อตกลงการจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายคนละ 30,000-100,000 บาท ตามอายุงานและฐานเงินเดือนของแต่ละคน ซึ่งเมื่อถึงเวลาบริษัทฯกลับบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยตามที่ทำสัญญาตกลงกันไว้

น.ส.อารีรัตน์ สุริวงศ์ ตัวแทนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกล่าวว่า บริษัท เรือเร็วลมพระยา จำกัด ได้เลิกจ้างพนักงานฝ่ายต่างๆ ทั้งในจ.ชุมพร กรุงเทพฯ และอีกหลายสาขาทางจังหวัดภาคใต้รวมกว่า 100 คน ในส่วนของ จ.ชุมพรถูกเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ประมาณ 30-40 คน โดยบริษัทอ้างว่าประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ หลังถูกเลิกจ้างได้ทำสัญญาตกลงกันเกี่ยวกับเงินค่าชดเชยกรณีที่ถูกเลิกจ้าง โดยบริษัทจะทยอยจ่ายให้เป็นรายเดือนจนครบ ส่วนระยะเวลาเป็นไปตามฐานเงินเดือนและอายุงานของแต่ละคน มีตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน ไปจนถึง 10 เดือน ซึ่งพวกตนก็ยอมที่จะไม่รับเงินค่าชดเชยเป็นก้อน เพราะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแม้หลังเลิกจ้างพวกเราบริษัทฯก็ยังเปิดทำงานอยู่ตามปกติ

น.ส.อารีรัตน์กล่าวว่า ตามที่ได้ตกลงทำสัญญากันไว้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจะรับเงินชดเชยงวดแรกในวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่เมื่อถึงเวลาบริษัทฯก็ไม่ยอมจ่ายเมื่อสอบถามไปยังผู้เกี่ยวข้องก็โยนกันไปมาและไม่มีคำตอบที่ชัดเจน พวกเราที่ถูกเลิกจ้างได้รับความเดือดร้อนมาก หลายคนต้องผ่อนจ่ายค่าสินค้าที่ซื้อมาและหลายคนก็หวังว่าจะนำเงินก้อนสุดท้ายจากค่าชดเชยที่ถูกบอกเลิกจ้างไปลงทุนทำกิจการอื่นๆ เพื่อเลี้ยงปากท้องก็ยังไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีเงินค่าประกันการเข้าทำงานอีกคนละ 5,000 บาทที่บริษัทฯต้องคืนหลังออกจากงานพวกเราทุกคนก็ยังไม่ได้คืนมาเช่นกัน

น.ส.อารีรัตน์กล่าวว่า หลังเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชุมพร มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกี่ยวข้องให้คำปรึกษาแนะนำขั้นตอนการดำเนินงานตามกรอบระยะเวลา 30-60-90 วัน เพื่อเรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาใกล่เกลี่ย หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน และหากต้องการให้รวดเร็วผู้เสียหายสามารถดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลได้เลย เพราะถือว่าทางฝ่ายบริษัทนั้นได้ผิดสัญญาตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ ซึ่งพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทุกคนต่างก็เห็นด้วยที่จะไม่ขอไกล่เกลี่ยในชั้นนี้แล้ว จึงตัดสินใจมอบหมายให้นิติกรจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชุมพร ดำเนินการพาผู้ถูกเลิกจ้างทั้งหมดไปฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดชุมพรในช่วงบ่ายวันเดียวกัน


น.ส.อารีรัตน์กล่าวว่าสำหรับการเรียกร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้ นอกจากที่ จ.ชุมพรมีจำนวน 25 คนแล้ว ยังมีผู้ถูกเลิกจ้างที่ จ.สุราษฎร์ธานี อีกกว่า 40 คน ได้เดินทางไปร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สุราษฎร์ธานี โดยทุกคนก็เห็นด้วยในการไปยื่นฟ้องบริษัทฯต่อศาลเช่นเดียวกัน ส่วนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอีกจำนวนหนึ่งที่เหลือซึ่งยังไม่สะดวกในวันนี้ก็จะทยอยไปยื่นฟ้องในวันต่อไป